มีเพื่อนเพิ่งกลับจากเกาหลี กลัวติดโรคเมอร์ส ทำอย่างไรดี
มีเพื่อนเพิ่งกลับจากเกาหลี กลัวติดโรคเมอร์ส .. ทำอย่างไรดี ?
กระแสเที่ยวเกาหลีมีต่อเนื่องมาสักพักแล้วนะคะ พอมีข่าวโรคเมอร์สที่เกาหลีขึ้นมาเชื่อว่าคงมีคนที่กังวลอยู่บ้าง อย่าปล่อยให้ความกังวลเกาะกุมใจเราอยู่เลยนะคะ มาเรียนรู้กันดีกว่าค่ะว่าโรคนี้ คือโรคอะไร มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร และจะป้องกันได้อย่างไรบ้าง
โรคเมอร์ส (Mers : Middle East Respiratory Syndrome) คือโรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนา (Corona Virus) หรือที่เรียกว่า เชื้อไวรัสเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) หรือ EMC/2012 (HCoV-EMC/2012) ซึ่งบางครั้งจะเรียกไวรัสตัวนี้ว่า “เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง” และโรคเมอร์ส บางครั้งเรียกว่า “โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง”
การระบาดของเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คนนั้น ได้ตรวจพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ.2555) ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นชายวัย 60 ปี ซึ่งต่อมาเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบและไตวาย จากนั้นเชื้อไวรัสเมอร์สได้ระบาดลุกลามอย่างรวดเร็วในประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆในตะวันออกกลาง และการะจายสู่ประเทศต่างๆทั่วโลกในปัจจุบัน
อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส/ผู้ป่วยโรคเมอร์ส ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเมอร์สนั้นจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด คือจะมีอาการไอ จาม มีไข้สูง และหอบเหนื่อย รวมทั้งอาจจะมีอาการท้องเสียและอาเจียนร่วมด้วย หลังจากนั้นจะมีอาการรุนแรงขึ้นเช่น ปอดอักเสบ ไตวาย ระบบการหายใจล้มเหลวและทำให้เสียชีวิตในที่สุด
ระยะฟักตัวของไวรัส
เชื้อไวรัสเมอร์สจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ราวๆ 14 วัน ก่อนที่จะแสดงอาการป่วย ในบางรายพบว่าไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น จึงกลายเป็นพาหะนำโรคและแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
การติดต่อหรือแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเมอร์ส
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าเชื้อไวรัสนี้กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างไร แต่พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมดังนี้
- ผู้ที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด
- ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเมอร์สในตัวหรือผู้เป็นพาหะ
- ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อไวรัสในตัว
- บุคคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยเมอร์ส
วิธีรักษาผู้ติดเชื้อโรคเมอร์ส
ปัจจุบันยังไม่มียา วัคซีน หรือเครื่องมือใดๆที่จะสามารถรักษาอาการโรคจากไวรัสเมอร์สได้โดยตรง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก (ราวๆ 30% ของผู้ป่วย) การรักษานั้นแพทย์จะทำการรักษาตามอาการและประคองอาการเท่านั้น ฉะนั้นแล้วเราควรหมั่นสังเกตุตัวเอง หากมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันตัวจากเชื้อไวรัสเมอร์ส
เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง ดังนั้นควรป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสตัวนี้ให้มากที่สุด ดังนี้
- หลีกเลี่ยงเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการระบาด
- ผู้ที่ทำการใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควรสวมหน้ากากอนามัย
- ไม่เข้าไปอยู่ใกล้หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหวัดหรือมีอาการคล้ายหวัด
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดพลุกพล่าน
- หมั่นสังเกตคนใกล้ชิดและคนในครอบครัว หากมีอาการน่าสงสัย ให้พาไปพบแพทย์ทันที
- หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
- รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ
- ล้างมือบ่อยๆ
เน้นย้ำให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการไอหรือจาม ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัดหรือที่มีคนอยู่จำนวนมาก และแนะนำให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโรค และปิดปากและปิดจมูกเวลาไอหรือจาม เพียงเท่านี้ก็ปลอดภัยแล้วคะ คงทำให้คลายกังวลกันได้บ้างนะคะ