ข้อมูลเที่ยวศรีลังกา : วัดกัลณียา โคลัมโบ ศรีลังกา
วัดกัลณียา โคลัมโบ ศรีลังกา
วัดกัลณียา ชื่อเต็มว่า เกลานียาราชมหาวิหาร ตามพงศาวดารมหาวงศ์ กล่าวว่า ในพรรษาที่ 8 หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จมาเทศน์โปรดพญานาคาที่บริเวณวัดกัลณียาแห่งนี้ ต่อมาได้มีการสร้างพระเจดีย์ครอบบริเวณที่เชื่อกันกันว่าเป็นพุทธอาสนะในครั้งนั้น ตำนานวัดกัลณียา สมัยพระราชากาลานิทิสาครองเมืองอยู่ พระอนุชาอุททิยา เกิดมีจิตพิสมัยพระราชินีซึ่งเป็นพระเชษฐนีหรือพี่สะใภ้ จนถึงขั้นลักลอบเป็นชู้กัน พอเรื่องทราบถึงพระราชกานิทิสา อุททิยาผู้น้องจึงต้องหลบหนีออกจากเมือง แต่ด้วยความรักและความคิดถึงต่อพระราชินี อุททิยาจึงแอบกลับเข้าเมืองอีกโดยปลอมเป็นพระเข้าไปอยู่ในวัดเกลานียาแห่งนี้ วันหนึ่งพระในวัดได้รับนิมนต์เข้าวังเพื่อรับพระราชทานปัจจัยจากพระราชาและพระประยูร ญาติเป็นการทำบุญ อุททิยา จึงเขียนสาส์นรักฝากพระรูปหนึ่งที่ได้รับนิมนต์ด้วยไปส่งให้พระราชินี ซึ่งเวลาส่งสาสน์รักถึงกันตามธรรมเนียมนั้นจะไม่ยื่นให้กับมือโดยตรงแต่จะวางไว้แทบเท้าของสตรีผู้นั้นแทน บังเอิญพระรูปนั้นจะประหม่าหรือกลัวมากเกินไป มือจึงสั่นผิดปกติเวลา หยิบจดหมายวางลงที่พระบาทของพระราชินี จนพระราชาสังเกตเห็นและจับได้ เมื่อเปิดออกดูรู้ข้อความก็ทรงพิโรธประกอบกับลายมือที่ปรากฏในสาสน์รักนั้น คล้ายคลึงกับลายมือของพระที่นำสาสน์มาก จึงทรงตัดสินประหารชีวิตพระ โทษประหารที่ถือว่าให้เกียรติสูงสุดแก่จำเลยตามหลัก “อภัย” หรือ Apaya ของชาวสิงหลสมัยนั้น คือเอาลงต้มในหม้อน้ำมันขนาดใหญ่ที่กำลังเดือดพล่านให้ตายทั้งเป็น ส่วนพระราชินีให้สำเร็จโทษโดยการมัดตัว แล้วนำไปถ่วงน้ำในแม่น้ำที่อยู่ใกล้ ๆ การ “ฆ่าพระ” ถือว่าเป็นบาปหนักมาก ยิ่งประหารชีวิตพระที่บริสุทธิ์และเคราะห์ร้ายเพราะยอมส่งสาสน์ให้เพื่อน โดยวิธีต้มให้ตายทั้งเป็นในน้ำมันเดือดๆ อย่างทารุณแบบนี้เทพสมุทรหจึงพิโรธมาก จึงบันดาลให้เกิดคลื่นยักษ์ขนาดภูเขาลูกย่อม ๆ โหมกระหน่ำชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะซึ่งเป็นแถบที่ตั้งเมืองกัลยาณี กวาดเอาบ้านเรือนราษฎรลงทะเลเป็นพื้นที่มหาศาลและยังโหมกระหน่ำขึ้นไปบนฝั่งเรื่อยๆ จนเกือบถึงตัวเมืองกัลญาณีอยู่แล้ว บรรดาโหราจารย์ทั้งหลายจึงรีบจับยามดูและเข้าไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบพร้อมกับแนะหนทางแก้ไข ซึ่งมีอยู่ทางเดียวคือต้องเซ่นบูชาเทพสมุทรให้คลายพิโรธด้วยชีวิตสาวบริสุทธิ์ที่พระองค์รักที่สุด มีค่าที่สุดและใกล้ชิดกับพระองค์ที่สุด นั่นคือ พระธิดาของพระองค์เอง ปรากฏว่ายังไม่พอล้างบาปเพราะ “ยมะราชจุรุโว” หรือ พญายมบาล ก็โผล่ขึ้นมาจากอเวจี ช่วยเทพสมุทรลงโทษราชากาลานิทิสสาอีก ตามตำนานบอกว่าทรงบันดาลแยกแผ่นดินให้ไฟนรกพวยพุ่งขึ้นมาเผา ส่วนพระธิดานั้น ถูกพระบิดาจับลอยแพรออกสู่มหาสมุทรตามยถากรรม จึงไปถึงทางใต้ของเกาะ ตอนนั้นเจ้าหญิงสลบไปแล้วด้วยความหิวโหยและคลื่นซัดแพไปติดอยู่ที่ชายหาดเมืองกิรินท์ ผลสุดท้ายเจ้าหญิงก็ได้รับความช่วยเหลือและกลายเป็นชายาของ “คาวันทิสสา” เจ้าเมืองกิรินท์ มีโอรสองค์หนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นวีรกษัตริย์ของชาวสิงหลนั่นเอง จุดที่ตั้งเตาต้มพระภิกษุ มีการสร้างสถูปไว้ให้ผู้คนได้เซ่นไหว้บูชา จนกระทั่งถึงสมัยโปรตุเกสเข้ามายึดครองสถูปองค์นั้นจึงถูกทำลายทิ้งไป แต่ต่อมาก็สร้างขึ้นใหม่ ส่วนวิหารของวัดกัลยาณีหลังเก่าก็ถูกทำลายไปเช่นกันในตอนต้นศตวรรษที่ 13 โดยกองกำลังต่างชาติคือพวกมาฆะแห่งกาลิงคะหรือชาวเผาทมิฬจากภาคใต้สุดของอินเดียที่เข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของเกาะซีลอน ราชอาณาจักรสิงหลจึงสูญไปตั้งแต่บัดนี้ จนกระทั่งถึงสมัยกษัตริย์วิชัยยะพาหุที่ 3 คือเมื่อ 771 ปีที่ผ่านมา (ครองราชย์ปีค.ศ.1232-1236) และกษัตริย์ปรักรามาพาหุที่ 2 (ค.ศ. 1236-1270) ผู้เป็นโอรส จึงสามารถขับไล่พวกทมิฬออกไปได้และสร้างอาณาจักรขึ้นใหม่ วัดเกลานียา จึงได้รับการสร้างขึ้นใหม่เป็นวิหารที่ใหญ่และสำคัญที่สุดทางพุทธศาสนาในกรุงโคลัมโบ ทวารบาลวัดกัลณียา ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัดชั้นในของวัดกัลณียานั้น ต้องผ่านทวารบาลหรือผู้พิทักษ์ประตูทางเข้า ทวารบาลของลังกาในยุคแรกจะเป็นรูปหม้อน้ำซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เรียกว่า ปูรณฆฏะ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอมราวดีในอินเดีย แต่ต่อมาในยุคที่สอง ทวารบาลได้เปลี่ยนเป็นรูปคนแคระ 2 คน คนหนึ่งใส่หมวกรูปดอกบัวเรียก “ปัทมนิธิ” อีกคนหนึ่งใส่หมวกรูปสังข์เรียก “สังขนิธิ” ตามตำนานเล่าว่า คนแคระเป็นบริวารของท้าวกุเวร เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง ในยุคต่อมาทวารบาลได้เปลี่ยนเป็น มนุษยนาค คือเป็นรูปคนและมีนาคแผ่พังพานอยู่เบื้องหลังและในยุคหลังได้มีการผสมผสานทวารบาลของทุกยุคเข้ามารวมกันเป็นรูปพญานาคในร่างมนุษย์ ถือหม้อน้ำ และมีบริวารเป็นคนแคระ ทางด้านข้างวิหารทางทิศใต้นั้น มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ เป็น 1 ใน 13 ต้นที่แยกหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อนุราธปุระ มีชาวพุทธมารดน้ำบูชากันมิขาดสาย ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีผ้าม่านผ้าโปร่งบางกั้นพระประธานของโบสถ์ไว้อีกชั้นหนึ่ง จิตรกรรมฝาผนังวัดกัลณียา ภายในห้องวิหารของวัดกัลณียานั้น มีจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสวยงาม ทั้งในเรื่องการใช้สี การจัดวางเรื่องราว องค์ประกอบภาพ ตลอดจนฝีมือในการวาด เนื้อหาของจิตรกรรมฝาผนังวัดกัลณียานั้นเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ ชาดก และตำนานต่างๆ ได้แก่
1.ภาพเจ้าชายทันตกุมาร กับเจ้าหญิงเหมมาลา อัญเชิญพระทันตธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว)จากอินเดียมาลังกา
2.ภาพพระสังฆมิตตาเถรีนำต้นพระศรีมหาโพธิ์มาลังกา พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงลุยน้ำไปรับที่เรือ
3.ภาพพระพุทธโฆษาจารย์นำคัมภีร์ใบลานวิสุทธิมรรคที่ท่านรจนาแล้ว 3 ชุดถวายพระสังฆราชสิงหล
4.ภาพพระเจ้ากิตติศรีราชสิงหะทรงแต่งตั้งพระเวลิวิตะ ศรี สรณังกร เป็นพระสังฆราชนายกสยามนิกาย
5.ภาพพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะโปรดเกล้าฯ ให้ช้างเกลี่ยพื้นที่ในพระราชอุทยานมหาเมฆ ก่อนที่จะสร้างเป็นวัดมหาวิหาร
6.ภาพพระมหินทเถระพร้อมด้วยหมู่สงฆ์เดินทางเข้าเมืองอนุราธปุระ ตามคำอาราธนาของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ