ข้อมูลเที่ยวพม่า : เจดีย์มิงกุน

เจดีย์มิงกุน ความใหญ่โตที่สร้างไม่เสร็จ

เป็นอีกหนึ่งความใหญ่โตอลังกาลงานสร้างในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ คงเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกเสียจาก เจดีย์ที่มีนามว่า “มิงกุน” ความใหญ่โตนี้ยังสร้างไม่เสร็จหรอก แต่ทั้งหมดเหลือไว้แค่เพียงหลักฐานและร่องรอยแห่งความทะเยอทะยานของพระเจ้าปดุง และเหลือเพียงเศษซากไว้ให้เราได้ชมกัน 
ที่ท่าเรือหมู่บ้านมิงกุนเมื่อขึ้นฝั่ง เราจะพบโบราณสถานจุดแรกที่มีชื่อว่า เจดีย์เซตตอยา ซึ่งพระเจ้าปดุงโปรดฯ ให้สร้างครอบรอยพระพุทธบาทจำหลังบนหินอ่อน เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวย่างสู่ดินแดนที่พระเจ้าปดุงมีพระราชดำริจะสร้างเจดีย์มิงกุน หรือ“เจดีย์จักรพรรดิ” ที่ใหญ่ที่สุดและสูงกว่าเจดีย์ใดๆในสุวรรณภูมิ เศษซากเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างไม่เสร็จ มีสิงห์คู่ประดับอยู่ด้านหน้า ภายในวิหารมีพระพุทธรูปขนาดเล็กประดิษฐานอยู่ มองเห็นพุทธศาสนิกชนแวะเวียนเข้าไปกราบไหว้บูชา ขอพรจากองค์พระอยู่ไม่ขาดสาย ซึ่งจะมีพระสงฆ์คอยสวดมนต์อยู่ภายในวิหาร

เหตุผลที่สร้างไม่เสร็จ 
หลังจากที่พระเจ้าปดุงได้เคลื่อนทัพไปตียะไข่ แล้วสามารถชะลอพระมหามัยมุนีมาประดิษฐานที่มัณฑะเลย์ได้สำเร็จ จึงทรงฮึกเหิมและมั่นพระทัยว่า พระองค์ทรงมีฤทธานุภาพเหนือมหาราชทุกพระองค์ในประวัติศาสตร์ของพม่า พระองค์จึงต้องการที่จะกระทำการใหญ่ขึ้นและยากขึ้น ด้วยการทำสงครามแผ่พระบารมีไปรอบด้าน และกรีธาทัพมาตีกรุงรัตนโกสินทร์ที่เพิ่งจะสถาปนาได้ไม่นานถึง 2 ครั้ง คือ สงคราม 9 ทัพและการศึกท่าดินแดง แต่ต้องพ่ายแพ้กลับไป ในขณะเดียวกันก็ทรงเกณฑ์แรงงานทาสจำนวนมากเพื่อมาสร้าง “เจดีย์มิงกุน” เพื่อประดิษฐาน “พระทันตธาตุ” ที่ได้มาจากพระเจ้ากรุงจีน โดยทรงมุ่งหวังให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่ามหาเจดีย์ในพุกาม และใหญ่โตโอฬารกว่า “พระปฐมเจดีย์” ในสยามประเทศ ซึ่งในเวลานั้น ถือว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในสุวรรณภูมิ ต่อมา เกิดแรงกดดัน ส่งผลให้ข้าทาสชาวยะไข่ หรือชาวอาระกัน จำนานห้าหมื่นคนหลบหนีการกดขี่แรงงานไปอยู่ในเขตเบงกอล ซึ่งเป็นดินแดนในอาณัติของอังกฤษ แล้วซ้องสุมกำลังเป็นกองโจร ลอบโจมตีกองทัพพม่าอยู่เนืองๆ โดยพม่ากล่าวหาว่าอังกฤษหนุนหลัง กลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษในเวลาต่อมา และทำให้พม่าเสียเมืองในที่สุด งานก่อสร้างเจดีย์มิงกุนดำเนินไปได้เพียง 7 ปีเท่านั้น พระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคตหลังจากที่ทรงพ่ายแพ้ไทยในศึก 9 ทัพ ส่วนมหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ตามความมุ่งหวังของพระองค์จึงเสร็จเพียงแค่ฐาน ถึงกระนั้นก็ยังสูงถึง 50 เมตร ส่วนรอยแตกร้าวที่ฐาน เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2381 หากพระเจดีย์สร้างเสร็จตามแผน คงจะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่อลังการที่สุดและสูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงถึง 152 เมตร ก็เป็นได้

ที่เจดีย์มิงกุน (Mingun Paya) มีจุดท่องเที่ยวหลักๆให้ชมอยู่ 3 ที่ค่ะ คือ ตัวเจดีย์มิงกุนเอง ,ระฆังมิงกุน และเจดีย์ชินพิวเม (เมี๊ยะเต็งดาน)
1. เจดีย์ชินพิวเม (เมี๊ยะเต็งดาน)
ถ้าเราเดินไปอีกนิด ไม่ไกลจากระฆังมิงกุน จะเป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่ได้ชื่อว่าสวยมากแห่งหนึ่ง ได้รับสมญานามว่า “ทัชมาฮาล แห่งลุ่มน้ำเอยาวดี”  นั่นคือ เจดีย์ชินพิวเม หรือเมี๊ยะเต็งดาน เจดีย์ชินพิวเม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2359 โดยพระเจ้าบากะยีดอว์ พระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักต่อพระมหาเทวีชินพิวเม ซึ่งถึงแก่พิราลัยก่อนเวลาอันควร สาระสำคัญอยู่ที่ เจดีย์องค์นี้เป็นพุทธศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยหลักภูมิจักรวาล ก็คือ มีองค์พระเจดีย์อยู่ตรงกลาง ณ ยอดเขาพระสุเมรุ ที่เชื่อกันว่าเป็นแกนกลางของจักรวาล ล้อมรอบด้วยขุนเขาและมหาสมุทรตามหลักไตรภูมิ มิงกุนเหลือเพียงซากกองอิฐอันยิ่งใหญ่มโหฬาร ไว้ให้ชื่นชม แม้ว่าจะสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่เจดีย์แห่งนี้ก็กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างด้วยอิฐที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปโดยปริยาย นักท่องเที่ยวสามารถชมความยิ่งใหญ่ของเจดีย์แห่งนี้ได้เมื่อเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือบนแม่น้ำอิระวดี เมืองมัณฑะเลย์
2. ระฆังมิงกุน เดินจากเจดีย์มิงกุนไปไม่ไกลนัก ระหว่างทางจะผ่านร้านขายของที่ระลึกตั้งอยู่เรียงราย เป็นที่ตั้ง “ระฆังมิงกุน” เป็นความตั้งใจที่พระเจ้าปดุงโปรดฯให้สร้าง เพื่ออุทิศถวายแก่เจดีย์มิงกุน ระฆังจึงมีขนาดที่คู่ควรกัน ระฆังมิงกุนมีเส้นรอบวงถึง 10 เมตร สูง 3.70 เมตร น้ำหนัก 87 ตัน เล่ากันว่า พระเจ้าปดุงไม่ทรงต้องการให้มีใครสร้างระฆังเลียนแบบตน จึงรับสั่งให้ประหารนายช่างทันทีที่สร้างเสร็จ ปัจจุบันระฆังใบนี้ถือว่าเป็นระฆังยักษ์ที่เล็กกว่าระฆังแห่งพระราชวังเคลมลินในกรุงมอสโคเพียงใบเดียว แต่ระฆังเคลมลินนั้นแตกร้าวไปแล้ว ไม่สามารถนำมาใช้งานได้อีก ส่วนระฆังมิงกุนจึงเป็นระฆังยักษ์ที่สามารถส่งเสียงก้องกังวานได้จริงๆที่เหลืออยู่บนโลก

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ