ข้อมูลเที่ยวจีน : “ออกบูธ” ในจีน – เคล็ด(ไม่)ลับจับผิด “แบงค์ปลอม”
ข้อมูลเที่ยวจีน : “ออกบูธ” ในจีน – เคล็ด(ไม่)ลับจับผิด “แบงค์ปลอม”
“งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เงินเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตของเรา ๆ ท่าน ๆ ซึ่งแน่นอนว่า กว่าที่จะได้เงินมานั้นต้องแลกด้วยน้ำพักน้ำแรงไม่น้อย
เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงนี้ต้องสูญค่า เพียงเพราะเงินที่ได้มานั้นเป็น ‘แบงค์ปลอม’!!! วันนี้...ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ขอถือโอกาสนำเสนอ….สาระน่ารู้เกี่ยวกับการป้องกันธนบัตร ‘(หยวน)ปลอม’ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย (หน้าใหม่) ที่กำลังสนใจตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับ “ธนบัตรชำรุด” ที่ใครหลาย ๆ คนไม่รู้จะจัดการอย่างไร
รู้จัก “หยวน”
“เงินหยวน..เงินหยวน..” ที่เรียกติดปากคนไทยเป็นหน่วยเรียกของ “เหรินหมินปี้” (RMB) สกุลเงินสากลของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 เป็นต้นมา ธนาคารประชาชนจีน (แบงค์ชาติจีน) ได้ออกธนบัตรมาใช้แล้ว 5 รุ่น
ธนบัตรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเป็นธนบัตรรุ่นที่ 5 เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1999 ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาสาธารัฐประชาชนจีน ประกอบด้วย ธนบัตรชนิดราคา ¥100 / ¥50 / ¥20 / ¥10 / ¥5 / ¥1 และเหรียญกษาปณ์ 5Jiao และ 1 Jiao
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.2005 แบงค์ชาติจีนได้ออกชุดธนบัตรและเหรียญกษาปณ์รุ่นที่ 5 (รุ่นใหม่) อีก 6 ชนิดราคา ประกอบด้วย ธนบัตรชนิดราคา ¥100 / ¥50 / ¥20 / ¥10 / ¥5 และเหรียญกษาปณ์ 1 Jiao
พูด ง่าย ๆ ว่า ปี ค.ศ. ที่ระบุอยู่ด้านหลังธนบัตรรุ่นที่ 5 มีเฉพาะปี ค.ศ.1995 และค.ศ. 2005 เท่านั้น (ธนบัตรรุ่นที่ 4 อาจมีการใช้ในบางท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดราคา ¥1 เท่านั้น)
ปัจจุบัน ในบางพื้นที่นิยมใช้เหรียญกษาปณ์ ชนิดราคา ¥1, 5Jiao และ 1 Jiao กันอย่างแพร่หลาย ขณะที่พื้นที่ยังคงนิยมใช้ธนบัตรชนิดราคาเดียวกันอยู่
รู้ทัน รู้ใช้ ปลอดภัยจากแบงค์ ‘ปลอม’
ในประเทศที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็น “เจ้าแห่งการลอกเลียนแบบ” และเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัญหาการใช้ ‘ธนบัตรปลอม’ ในตลาดจีนเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังกัดเซาะระบบเศรษฐกิจและกระทบกับความเชื่อมั่นภาคประชาชนอยู่ไม่น้อย
ธนบัตรปลอมในจีนมีวิวัฒนาการใหม่อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าแบงค์ชาติจีน (People’s Bank of China) จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตธนบัตรเพื่อป้องกันการปลอมแปลงอย่างต่อเนื่อง ทว่า เหล่ามิจฉาชีพเองก็ ‘ติดสปีด’ เทคโนโลยีเลียบแบบชนิดหายใจลดต้นคอเช่นกัน
โอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับ ‘แบงค์ปลอม’ มักจะเป็น “ผู้ค้าหน้าใหม่” ที่เข้ามาขายสินค้าในจีนชั่วคราว (เช่น ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้งานแฟร์เพื่อทดลองตลาด) ซึ่งยังขาดประสบการณ์เกี่ยวกับธนบัตรจีน
รู้ทัน หมั่นสังเกต...ไม่ตกเป็นเหยื่อ ‘แบงค์ปลอม’
ผู้ประกอบการไทยต้อง “รู้จักสังเกตธนบัตรที่ได้รับทุกครั้ง โดยเฉพาะธนบัตรที่มีมูลค่าสูง” โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคา ¥100 ที่ระบาดหนักในตลาดจีน เนื่องจากเหล่ามิจฉาชีพจะใช้งานแฟร์เป็นที่ปล่อยแบงค์ปลอม เพราะมีผู้คนพลุกพล่าน ทำให้ยากต่อการจดจำและติดตามตัว
|
พฤติกรรมต้องสงสัยที่เหล่ามิจฉาชีพมักใช้หลอก ‘เหยื่อ’ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวัง!!
“ถูกหลอกเพราะบอกว่า...รีบ!!!” เหล่ามิจฉาชีพมักใช้ความเร่งรีบมาหลอกให้เราติดบ่วงกลลวงรับธนบัตรปลอมได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องมีการรับจ่ายตังค์แบบเร่งรีบ ทำให้เราไม่ทันระวังหรือสังเกตธนบัตรที่ได้รับมาอย่างถี่ถ้วน
“ร้อนตัว...เพราะกลัวผิด” พวกมิจฉาชีพ(มือใหม่)มักแสดงอาการอาการรุกรี้รุกรน หลบสายตา ไม่กล้ามองหน้า พูดจากระอึกกระอัก มือไม้สั่น (คล้ายอาการเจอคนที่แอบชอบ) เพราะกลัวถูกจับผิด
“อย่าตัดสินใครจากการแต่งตัว!!!” มิจฉาชีพ มักแต่งตัวดี ทำทีมาซื้อของด้วยพฤติกรรมรีบเร่ง ในสถานการณ์แบบนี้ทำให้เรารีบหยิบ รีบรับ รีบทอน โดยไม่ทันได้สังเกตว่าเป็นธนบัตรจริงหรือปลอม
เพราะฉะนั้น... การ แต่งตัวดีไม่ได้รับประกันว่าเขาจะไม่ใช้ธนบัตรปลอม และพึงระมัดระวังให้มากเวลาที่ต้องทำอะไร ๆ ในสถานการณ์ที่เร่งรีบ ที่สำคัญต้องสังเกตทุกครั้งเมื่อได้รับธนบัตร โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคาสูง
ท่องจำขึ้นใจ...ห่างไกล ‘แบงค์ปลอม’
ผู้ประกอบการไทยสามารถเรียนรู้เทคนิคการสังเกตแยกแยะว่า ‘ธนบัตรจริงหรือปลอม’ ได้ง่าย ๆ เพียง 3 ขั้นตอน คือ
|
1. สัมผัส...สกัดแบงค์ปลอม
ธนบัตรทำจากกระดาษชนิดพิเศษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก เนื้อกระดาษจึงมีความเหนียวทนทาน ไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป ขณะที่ ‘ธนบัตรปลอม’ ทำจากกระดาษคุณภาพต่ำ เนื้อกระดาษเป็นขุยและยุ่ยง่าย คุณภาพสีหลุดลอก ภาพพิมพ์บนตัวธนบัตร เป็น “ลวดลายเส้นนูน” เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือหรือใช้ปลายเล็บขูดจะรู้สึกถึงความนูนหรือรู้สึกสะดุดกับหมึกพิมพ์ที่อยู่บนผิวธนบัตร “อักษรเบรลล์” สำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากจะสามารถแยกแยะจากความยาวของธนบัตร และลายดุนนูน อยู่บริเวณมุมล่างด้านขวาของธนบัตรทุกชนิดราคา
|
2. ยกส่อง....ต้องมองเห็น
“ลายน้ำ” สามารถ มองเห็นได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง ลายน้ำจะปรากฎขึ้นดูมีมิติ ซึ่งต่างกับธนบัตรปลอมที่เลียนแบบด้วยการพิมพ์ภาพลงบนผิวกระดาษ
“แถบโลหะ” ในเนื้อกระดาษ ธนบัตรทุกชนิดราคามีแถบโลหะฝังในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง บนแถบโลหะมีตัวเลขและตัวอักษรโปร่งแสงแจ้งชนิดราคาธนบัตรที่สามารถมองเห็น ได้ทั้งสองด้านเมื่อยกธนบัตรส่องกับแสง (ยกเว้นธนบัตรชนิดราคาต่ำกว่า ¥1)
“ภาพซ้อนทับ” ลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันของด้านหน้าและด้านหลักธนบัตรทับกันสนิท หรือประกอบขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์
|
3. พลิกเอียง...ไม่เสี่ยงรับ‘แบงค์ปลอม’
การพิมพ์ธนบัตรจะใช้ “หมึกพิมพ์พิเศษสลับสี” บริเวณตัวเลขแจ้งราคาธนบัตร เมื่อพลิกธนบัตรไปมา สีของตัวเลขจะเปลี่ยนสลับสี สังเกตได้จาก ธนบัตรราคา ¥100 และ ¥50
“ตัวเลขแฝง” ซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์มุมล่างซ้ายของธนบัตร เมื่อยกธนบัตรเอียงเข้าหาแสงสว่างและมองในระดับสายตาจะเห็นตัวเลขอารบิกแจ้ง ชนิดราคาธนบัตรฉบับนั้น
นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบธนบัตร โดยใช้รังสีเหนือม่วง หรือที่เรา ๆ เรียกว่า “แสงแบล็กไลท์” ส่องตรงด้านหน้าธนบัตรจะปรากฎตัวอักษรเรืองแสงระบุ“ราคาธนบัตร” (¥50 / ¥100) ส่วนด้านหลังธนบัตรจะปรากฎลายประดิษเรืองแสงเช่นกัน
ทำอย่างไรดี...เมื่อได้ ‘แบงค์ปลอม’
ผู้เสียหายควรจดจำรูปพรรณสัณฐาน หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่นำ ‘ธนบัตรปลอม’ มาใช้ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อใช้ในการสืบสวนจับกุมต่อไป จำไว้ว่า...อย่านำ ‘ธนบัตรปลอม’ ที่รับไว้ไปใช้ต่อ เพราะกฎหมายจีนระบุ ‘เอาผิดจริงจัง’ กับผู้ที่ใช้หรือมีแบงค์ปลอมไว้ในครอบครอง
|
- ในกรณีทั่วไปถูกควบคุมตัว มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 หยวน หรือระวางโทษเท่านั้น
- ใน กรณีที่ใช้หรือมีแบงค์ปลอมไว้ในครอบครองจำนวนมาก (หรือตั้งแต่ 3,000 หยวนขึ้นไป) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปีและระวางโทษปรับตั้งแต่ 20,000 หยวน แต่ไม่เกิน 200,000 หยวน
- ใน กรณีที่ใช้หรือมีแบงค์ปลอมไว้ในครอบครองจำนวนมหาศาล (หรือตั้งแต่ 1 แสนหยวนขึ้นไป) มีโทษจำคุกมากกว่า 10 ปีและระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000 หยวน แต่ไม่เกิน 100,000 หยวน หรือยึดทรัพย์ ผู้ เสียหายรีบแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ หรือแจ้งไปยังสถานีตำรวจท้องที่โดยด่วน เพื่อดำเนินการติดตามตัวมิจฉาชีพต่อไป
ธนบัตรชำรุด ‘มีค่า’ อย่าทิ้ง!!!
ธนบัตร ที่ถูกมองว่าอยู่ในสภาพไม่น่าใช้งาน (เก่าเปื่อย ขาดจนต้องแปะสก็อตเทป ขาดวิ่น เลอะคราบสกปรก ฯลฯ) หรือธนบัตรชำรุดอาจจะสร้างความไม่แน่ใจแก่ผู้ประกอบการ แม้ว่า ‘ธนบัตรชำรุด’ ถูกกำหนดให้ไม่สามารถนำไปใช้ได้ตามกฎหมายก็จริง แต่กฎหมายจีนก็เปิดช่องให้ผู้รับเงินสามารถนำเงินดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนเป็น ธนบัตรใหม่ได้ ณ เคาท์เตอร์ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารจะเป็นผู้ประเมินความเสียหายของตัวธนบัตร เพื่อพิจาณาตัดสินใน 3 กรณี คือ
1. เปลี่ยนใหม่ได้ “เต็ม” ราคา สำหรับ ธนบัตรชำรุดที่ยังอยู่ในสภาพที่สามารถบ่งชี้ชนิดราคาธนบัตร หรือมีเนื้อธนบัตรมากกว่า 3 ใน 4 ส่วน สามารถขอแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้เต็มราคากับทางเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ทันที โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
2. เปลี่ยนใหม่ได้ “ครึ่ง” ราคา สำหรับ ธนบัตรชำรุดที่มีเนื้อธนบัตรเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง สามารถขอแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้ครึ่งราคาของมูลค่าธนบัตร โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
3. ไม่รับเปลี่ยน สำหรับธนบัตรชำรุดที่มีเนื้อธนบัตรไม่ถึงครึ่งฉบับ อย่าลืม!!! พก “หนังสือเดินทาง” ติดตัวไว้เผื่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเรียกขอดูด้วยนะครับ
บทสรุป
‘ธนบัตรปลอม’ อาจ สร้างความวิตกกังวลกับผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่คุ้นเคยกับธนบัตรจีนมากนัก เนื่องจากแบงค์ปลอมรุ่นใหม่ ๆ มีความยากต่อการตรวจสอบมากขึ้น อันที่จริงแล้ว...มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ขอเพียงทุกท่านรู้จักระมัดระวัง หมั่้นสังเกต รวมทั้งติดตามศึกษารายละเอียดการตรวจสอบธนบัตรปลอม ปัญหา ‘แบงค์ปลอม’ คงจะไม่เป็นปัญหากวนใจหรือทำให้ใครน้ำตาตกในเป็นแน่ครับ