ข้อมูลทั่วไปประเทศสาธารณรัฐมัลดีฟส์

ที่ตั้งของมัลดีฟส์
มัลดีฟส์เป็นหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศศรีลังกา เป็นแนวยาวจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ บนแนวเส้นศูนย์สูตร

เมืองหลวง

เมืองหลวงของมัลดีฟส์คือ เมืองมาเล Male' ซึ่งเป็นเกาะอยู่ตรงกลางค่อนไปทางเหนือของประเทศ เป็นศูนย์รวม สถานที่ราชการ การค้าขาย และสถานที่สำคัญของประเทศ

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป

ชนพื้นเมืองพวกแรกที่อาศัยอยู่ในมัลดีฟส์ตั้งแต่ก่อนคริสตกาล คือ พวกดราวิเดียนและสิงหล ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ต่อมาในคริสตศวรรษที่ 12 ชาวมัลดีฟส์ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และมีสุลต่านราชวงศ์ต่าง ๆ เป็นผู้ปกครองประเทศในยุคแรก ได้แก่ ราชวงศ์ Somavansa หรือ Malei มีสุลต่าน 16 พระองค์ ปกครองเป็นเวลา 169 ปี ราชวงศ์ Veeru Umaru มีสุลต่าน 5 พระองค์ ปกครองเป็นเวลา 75 ปี ราชวงศ์ Hilali มีสุลต่าน 24 พระองค์ ปกครองเป็นเวลา 170 ปี

ชาวโปรตุเกสได้พยายามเข้ายึดครองมัลดีฟส์ตั้งแต่คริสตวรรษที่ 13 และประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 1558 โดยได้ปกครองมัลดีสฟ์อยู่เป็นเวลา 15 ปี ต่อมาในปี ค.ศ. 1573 มีการสถาปนาการปกครองระบบสุลต่านขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการตั้งราชวงศ์ Utheemu ซึ่งมีสุลต่านในราชวงศ์ 5 พระองค์ ปกครองเป็นเวลา 121 ปี ในสมัยราชวงศ์นี้มีการพัฒนาระบบการปกครอง การทหาร และการเงินให้ดีขึ้น ต่อมามีราชวงศ์ปกครองอีก 3 ราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์ Isdhoo, Dhiyamigili และ Huraage

ในปี ค.ศ. 1887 อังกฤษได้แผ่อิทธิพลในแถบมหาสมุทรอินเดีย สุลต่าน Muhammad Mueenudhdheen II จึงได้ทำความตกลง The Agreement on December 16th , 1887 กับอังกฤษ ส่งผลให้มัลดีฟส์อยู่ภายใต้การอารักขาของอังกฤษ (protection period)

ในปี ค.ศ. 1948 อังกฤษให้เอกราชแก่ศรีลังกา มัลดีฟส์จึงแยกตัวออกจากศรีลังกา โดยยังคงสถานะเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ต่อมาในปี ค.ศ. 1954 ได้มีการสถาปนาระบบสุลต่านขึ้นอีกครั้ง โดยมีการปกครองแบบรัฐสภา มีสภาสูงซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 80 คน และสภาล่างอีก 46 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1965 อังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่มัลดีฟส์ หลังจากเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษเป็นเวลา 79 ปี แต่อังกฤษยังคงเช่าเกาะกาน (Gan Island) ทางตอนใต้สุดของประเทศไว้เป็นฐานทัพถึงปี ค.ศ. 1986

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1968 มัลดีฟส์ยกเลิกระบบสุลต่าน และได้เปลี่ยนการ

ปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีนาย Amir Ibrahim Nasir เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของมัลดีฟส์ และบริหารประเทศจนถึงปี ค.ศ.1978 ต่อมา นาย Maumoon Abdul Gayoom ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสืบแทนจนกระทั่ง 11 พ.ย. 2008 โดยได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีติดต่อกับถึง 6 สมัย (สมัยละ 5 ปี) ซึ่งได้เข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 6 เมื่อเดือน ค.ศ. 2004 นับเป็นประมุขฝ่ายบริหารที่บริหารประเทศนานที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้
ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งอยู่คือ Mohamed Nasheed

การเมืองการปกครอง

ระบอบการปกครอง

มัลดีฟส์ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น

19 เขต (atoll) และ 1เขตบริหารพิเศษ ระบบกฎหมายใช้กฎหมายอิสลามเป็นพื้นฐานผสมกับระบบ Common Law ของอังกฤษ

ฝ่ายนิติบัญญัติ

มี 1 สภา เรียกว่า สภาประชาชน (Citizen Council) หรือมัจลิส (Majlis) สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง 40 คน และประธานาธิบดีแต่งตั้งอีก 8 คน ไม่มีพรรคการเมือง

ฝ่ายบริหาร

ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี เป็นประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจสั่งการและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้พิพากษาตลอดจนบัญชาการกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Service) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนาย Maumoon Abdul Gayoom ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมัลดีฟส์สมัยที่ 6 (ต.คง 2547) เป้นเวลากว่า 25 ปี

ฝ่ายตุลาการ ระบบศาลสูง (High Court)

ประมุขของรัฐและประมุขของรัฐบาล

ประธานาธิบดี มอมูน อัลดุล กายูม (Mr. Maumoon Abdul Gayoom)

รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย อาเม็ด ซาฮีด (Mr. Ahmed Shaheed)

ความสัมพันธ์ระหว่างมัลดีฟส์กับนานาประเทศ 

มัลดีฟส์มีนโยบายต่างประเทศที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศตะวันตก และกลุ่มประเทศมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดีย และศรีลังกา การรักษาความสัมพันธ์กับนานาประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญต่อมัลดีฟส์อย่างมาก เพราะมัลดีฟส์สามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับหนึ่งของรายได้ของประเทศในแต่ละปี ซึ่งทำให้มีเงินมาพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ มัลดีฟส์ยังสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศเอเชียใต้ด้วยกัน และสนับสนุนการจัดระบบสิทธิพิเศษทางการค้าในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ (South Asian Perferential Trade Agreement – SAPTA) อีกทั้งมัลดีฟส์ยังมีบทบาทในการพยายามผลักดันให้ยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศหมู่เกาะเพราะมัลดีฟส์เคยประสบกับเหตุการณ์ทหารต่างชาติรุกรานอธิปไตยเมื่อปี 2534 แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากอินเดียในการปราบปรามผู้รุกรานจนสำเร็จ และมีนโยบายให้ประเทศมหาอำนาจคำนึงถึงเอกราชและอธิปไตยของประเทศเล็ก ๆ ด้วย


มัลดีฟส์มีผู้แทนทางการทูตประจำอยู่ในต่างประเทศเพียง 2 แห่ง คือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่มัลดีฟส์ประจำศรีลังกา และคณะทูตถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

สภาพภูมิศาสตร์

มัลดีฟส์มีพื้นที่ ประมาณ90,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่ง 99% เป็นทะเล ส่วนที่เหลือประกอบไปด้วยเกาะใหญ่น้อยรวมกันถึง 1,190 เกาะ บนกลุ่มอะตอลขนาดใหญ่ 26 อะตอล ความสูงของเกาะต่างๆเหนือน้ำทะเล โดยเฉลี่ยประมาณ 1 - 2 เมตร แต่ละเกาะยาวไม่เกิน 7 กิโลเมตร บางเกาะก็มีพื้นที่ซึ่งยาวไม่ถึง 1 กิโลเมตร ความยาวจากทิศเหนือถึงทิศใต้ 820 กิโลเมตร และทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก 130 กิโลเมตร มีเกาะประมาณ 200 เกาะ ที่มีคนพักอาศัยอยู่ในจำนวนนี้มี 87 เกาะที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมรีสอร์ทหรูหรา

อะตอลคืออะไร

อะตอลที่เกิดในมัลดีฟส์คือโครงสร้างของซากปะการังที่ทับถมกันในเขตน้ำตื้นกลางทะเลซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก มีรูปร่างคล้ายวงแหวนเป็นลากูน ส่วนที่โผล่พ้นระดับน้ำทะเลจะมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 1 - 2 เมตร กลุ่มอะตอลนี้มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า Laccadives-Chagos Ridge ซึ่งมีความยาวมากกว่า2,000 กิโลเมตร ส่วนขอบของวงแหวนเรียกว่า'Faru' เป็นแนวโครงสร้างของปะการังที่มีประโยชน์ในการป้องกันคลื่นลมแรงที่มาจากเขตน้ำที่ลึกกว่า

สภาพภูมิอากาศ

เนื่องจากมัลดีฟส์มีพื้นที่ทะเลถึง 99% ของประเทศ และตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร ทำให้อากาศทั้งปีไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก สภาพอากาศจะเป็นแบบร้อนชื้น อบอุ่นตลอดทั้งปี อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 29 - 32 องศาเซลเซียส ฤดูในมัลดีฟจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงลมตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เมษายน ช่วงนี้ฟ้าปลอดโปร่ง แดดจ้า เดือนที่ร้อนที่สุดจะเป็นเดือนเมษายน ส่วนอากาศเย็นสุดจะเป็นช่วงเดือนธันวาคม ช่วงลมตะวันตกฌฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนเป็นช่วงที่มีฝนตก ฝนที่นี่จะตกแบบเป็นช่วงสั้นๆ15-30 นาทีเหมือนลมพัดเอาเมฆฝนมาแล้วก็ผ่านไป แต่สภาพทะเลก็ยังสามารถเที่ยวได้

ประชากร

ประชากรของมัลดีฟส์มีประมาณ 270,000 คน นับเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดในทวีปเอเชีย ประชากรส่วนใหญ่ ประมาณ 75,000 คน จะอาศัยอยู่ที่มาเล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ รองลงมาเป็นเกาะ Hithadhoo ใน Addu อะตอล 9,640 คน, เกาะ Fuamulah 7,243 คนและเกาะ Kulhudhufushi ใน Haa Dhaalu อะตอล 6,354 คน ตามลำดับ บางเกาะอาจมีประชากรไม่ถึง 200 คน ส่วนคนท้องถิ่นเดิมคือชาวมัลดิเวียน (Maldivian) มีประวัติการเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากว่า 3,000 ปีมาแล้ว 

ภาษา

ภาษาท้องถิ่นของชาวมัลดีฟส์คือ Dhivehi ตัวหนังสือเป็นแบบอารบิก สำหรับภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายเนื่องจากมัลดีฟเป็นเมืองท่องเที่ยว ภาษาต่างชาติอื่นๆที่เจ้าหน้าที่โรงแรมทั่วไปสามารถพูดได้ก็มี อาทิ ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอิตาลี 

เงินตรา

เงินตราของมัลดีฟส์คือ Rufiyaa และLaaree. อัตราแลกเปลี่ยนเงินต่อ1 US Dollar ประมาณ MRf.12.75 ค่าของเงิน 1 Rufiyaa เท่ากับ 100 laarees. ธนบัตรมีอัตรา 5, 10, 20, 50, 100 และ 500 เหรียญแบ่งเป็น MRf.2.00, MRf.1.00, 50 laarees, 20, 10, 5, 2 และ1 laaree. การเดินทางเที่ยวมัลดีฟควรแลกเงินUS Dollar ไม่จำเป็นต้องแลกเงินท้องถิ่น การใช้เงินส่วนใหญ่จะใช้เป็นเงินสด หรือ travellers’ cheques หรือบัตรเครดิตที่นิยมกันอย่างแพร่หลายเช่น American Express, Visa, Master Card, Diners Club, JCB และ Euro Card.

การศึกษา

ประชากรโดยทั่วไปของประเทศมีการศึกษาถึง 98% เนื่องจากได้รับการวางระบบการศึกษาของอังกฤษตั้งแต่ยังไม่ได้รับเอกราช

เวลาในมัลดีฟส์ GMT + 5 ชม.

เวลาช้ากว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง (ประเทศไทย GMT + 7 ชม.)

เวลาราชการ

วันทำงานของราชการคือวันอาทิตย์ ถึง วันพฤหัสบดีอยู่ระหว่างเวลา 7.30 - 14.30 ส่วนเวลาทำงานเอกชนร้านค้าทั่วไป 9.00 to 17.00 และเปิดวันเสาร์ช่วงเช้าถึงเที่ยง วันหยุดทั่วไปจะเป็นวันศุกร์-วันเสาร์

ระบบไฟฟ้า

ระบบไฟฟ้าเป็นแบบกระแสสลับ 230-240 Volts -AC **ปลั๊กเป็นแบบ 3 ขา (รีสอร์ทส่วนใหญ่มีหัวปลั๊กที่ใช้กับบ้านเราให้ยืม)

วันประกาศเอกราช

มัลดีฟส์ได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1965 สามปีต่อมาวันที่ 11 พฤษจิกายน ค.ศ.1968 มัลดีฟประกาศเป็น สาธารณรัฐมัลดีฟ ทุกปี มีการฉลองกันที่เมืองมาเลบริเวณ Republic Square

วันชาติมัลดีฟส์

วันชาติมัลดีฟส์ คือวันที่ Mohamed Thakurufaanu มีชัยชนะเหนือกองทัพโปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1573 ชาวมัลดีฟฉลองวันชาติในช่วงเดือนที่สามของปฎิทินอิสลาม

ศาสนา

ประชาชนส่วนใหญ่ในมัลดีฟนับถือศาสนาอิสลาม วันหยุดหรือเทศกาลสำคัญในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม

สถานที่น่าสนใจในเมืองมาเล่

ตลาดปลา

อาชีพหลักของชาวมัลดีฟส์คือการประมง ทุกๆวันจะมีปลาสดๆจากทะเลน้อยใหญ่มาส่งที่ตลาดแห่งนี้

ศูนย์วัฒนธรรมอิสลาม

เป็นศูนย์ขนาดใหญ่และสำคัญของเมืองมาเล่ ลักษณะอาคารมีโดมสีทองขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของศาสนาอิสลาม มีมัสยิดที่จุได้ถึง 5,000 คน, ห้องสมุดของศาสนาอิสลาม, ห้องประชุม

ตลาดสด

อยู่ใกล้ๆกับตลาดปลา เป็นแหล่งรวมอาหารประเภทผักสด ผลไม้

มัสยิด Huskuru Miskiiy

เป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยคริสศตวรรษที่ 17 โดยสุลต่าน Ibrahim Iskandhar ในปี ค.ศ. 1656 มัสยิด Huskuru Miskiiy หรือ มัสยิดวันศุกร์ อาคารนี้ใช้ปะการังมาสลักเป็นลวดลายต่างๆ รอบๆเป็นหลุมฝังศพที่มีการใช้หินปะการังเช่นกัน ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามที่สำคัญของชาวมัลดีฟมากว่า 400 ปี จนกระทั่งมีการสร้างมัสยิดใหม่ที่ศูนย์วัฒนธรรมอิสลาม ในปี ค.ศ.1984.

ทำเนียบประธานาธิบดี Mulee-aage

เป็นพระราชวังเก่าสร้างในปี ค.ศ.1906 โดยสุลต่าน Mohamed Shamsuddeen III ถูกใช้เป็นบ้านของประธานาธิบดีระหว่างปี ค.ศ. 1953 - 1994 หลังจากมีการสร้างที่พักใหม่ให้ประธานาธิบดี ที่นี่จึงใช้เป็นสถานที่ทำงาน หรือทำเนียบของประธานาธิบดี

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติมัลดีฟส์

พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ที่ Sultan’s Park อาคารที่ใช้เป็นพระราชวังเก่า เปิดให้ชมทุกวันระหว่างเวลา 9.00 - 11.40 และ 15.00 - 17.40 ยกเว้นวันศุกร์ และวันหยุดราชการ

สิ่งที่ไม่ควรปฎิบัติเมื่ออยู่ในมัลดีฟส์

- ไม่ควรนำทราย หอย ปะการัง ปลาทะเล และสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติออกจากมัลดีฟส์

- การเปลือยกายในที่สาธารณะ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

- ไม่ควรตกปลาในบริเวณที่พัก หากชื่นชอบกีฬาตกปลา ควรติดต่อขอข้อมูลจากทางรีสอร์ท

- สุภาพสตรีไม่ควรสวมสายเดี่ยว เกาะอก กางเกงขาสั้นเที่ยวในเมืองมาเล่ เนื่องจากในเมืองเคร่งครัดเรื่องศาสนา ผู้หญิงท้องถิ่นจะแต่งกายมิดชิดมาก

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ