ข้อมูลเที่ยวเวียดนาม : เทศกาลเต็ด (Tet)

เทศกาลสำคัญของประเทศเวียดนาม เทศกาลเต็ด (Tet)

แม้ทุกชาติในอาเซียนจะฉลองวันปีใหม่ตามสากลคือวันที่ 1 มกราคม แต่ก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งธรรมเนียมของการฉลองปีใหม่ตามประเพณีดั้งเดิมของตน ประเทศเวียดนามก็เช่นกัน ซึ่งเวียดนามจะฉลองปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติเช่นเดียวกันกับจีน คนเวียดนามจึงฉลองปีใหม่ตรงกันกับตรุษจีน หรือที่เรียกกันว่า ตรุษ เต๊ด (Tết) หรือ เต็ดเฮงียนด๋าน (Tết Nguyên Đán) คนเวียดนามอาจเรียกตรุษเต็ด ว่า เต็ดเอิมหลิจ (Tết âm lịch) ซึ่งมีความหมายว่าปีใหม่ตามจันทรคติ เต็ดเหวียดนาม (Tết Việt Nam) เต็ดของเวียดนาม หรือ เต็ดตา (Tết ta) ซึ่งหมายถึง ปีใหม่ของเรา (เวียดนาม) ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นความแตกต่างจาก เต็ดเตย (Tết tây) หรือปีใหม่ของตะวันตก เต๊ด หมายถึงการเริ่มต้นใหม่ ความชื่นบานของฤดูใบไม้ผลิ เทศกาลแห่งรุ่งอรุณของปี โดยแนวปฏิบัติทั่วไปแล้ว บรรยากาศของการฉลองเต๊ดเริ่มก่อนวันตรุษเต๊ด 1 สัปดาห์ ด้วยการ บูชา องต๋าว (Ông Táo) เทพเจ้าแห่งครัว ซึ่งเชื่อว่าทำหน้าที่รายงานความเป็นไปในโลกมนุษย์ต่อเทพบนสวรรค์หรือ องเจ่ย (Ông Trời) ตามมาด้วยการปล่อยปลาคาร์ฟลงน้ำซึ่งเชื่อว่าหลังจากนั้นจะกลายเป็นมังกรพา องต๋าว กลับขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อเข้าเฝ้า องเจ่ย สิ่งที่คนเวียดนามจัดเตรียมก่อนวันปีใหม่คือการไปคารวะสุสานของบรรพบุรุษ  ความสะอาดบ้าน ตกแต่งที่พัก ซื้ออาหารสำรองไว้ เนื่องจากร้านค้าต่างๆ มักหยุดกิจการในช่วงเต็ด และยังต้องจัดหาต้นไม้มงคลมาประดับตกแต่งบ้านเรือนซึ่งได้แก่ ฮวาด่าว (Hoa đào) ดอกเหมยหรือดอกท้อ สีชมพู ส่วนทางภาคใต้ของเวียดนามนิยมฮวามาย (Hoa mai) ซึ่งเป็นดอกไม้สีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นและความชื่นบานแห่งฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งอาจซื้อเป็นต้นหรือใช้เพียงกิ่งมาประดับบ้านเพื่อให้เกิดบรรยากาศของเต็ดก็ได้ตามแต่กำลังทรัพย์ของแต่ละครอบครัว นอกจากนี้ ยังนิยมต้นส้มจี๊ด หรือในภาษาเวียดนามเรียกว่า  เกยเกวิ๊ต (Cây quất) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์

สมาชิกของครอบครัวจะมาพร้อมหน้าพร้อมตากันในวันส่งท้ายปีเก่า หรือ ซาวเถื่อ (Giao thừa) ในภาษาเวียดนามซึ่งหมายถึงการส่งต่อไปยังปีใหม่ ทั้งนี้เพื่อรับประทานอาหารและรอต้อนรับปีใหม่ร่วมกัน มักมีการจุดประทัดหรือพลุในเวลาเที่ยงคืนเพื่อเป็นสัญญาณว่าปีใหม่ได้มาถึงแล้ว จากนั้นจะฉลองปีใหม่กันอีกสามวัน โดยวันที่ 1 เป็นวันไหว้ วันเลี้ยงฉลองกันในครอบครัว และอวยพรบิดา ซึ่งตามธรรมเนียมของเวียดนาม คือว่า วันที่หนึ่งเป็นเต็ดของบิดา วันที่สองเป็นเต็ดของมารดา ส่วนวันที่สามเป็นเต็ดของครูอาจารย์ (Mồng một tết cha, mồng hai tết mẹ, mồng ba tết thầy) ดังนั้น นอกจะเป็นโอกาสสำหรับการรวมญาติและการไหว้วิญญาณบรรพบุรุษแล้ว เต็ดยังเป็นโอกาสสำหรับการขอบคุณอีกด้วย ทั้งนี้ ชาวเวียดนามจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนและขอบคุณบุคคลที่มีพระคุณหรือให้ความเชื่อเหลือกันมา เช่น ครูอาจารย์ที่เคยสอนเรามา หรือคุณหมอที่เคยรักษาด้วย เป็นต้น

นัยสำคัญของ เต๊ด คือ การเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันของครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น การพบปะกันของสมาชิกในครอบครัวซึ่งอาจทำงานกันอยู่คนละเมืองได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน เป็นช่วงเวลาที่มีการระลึกถึงบรรพบุรุษ และการระลึกถึงเทพเจ้าประจำบ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูตามขนบความเชื่อของขงจื้อ โดยพิธีไหว้บรรพบุรุษมีขึ้นในแรกของเต็ด สมาชิกในครอบครัวพร้อมใจกันสวมเสื้อผ้าใหม่สีสดใส จากนั้นก็มีการให้พรอายุ หรือ หมึ่ง ต๋วย (Mừng tuổi) โดยผู้ใหญ่จะให้อั่งเปาแก่เด็กๆ และอวยพรให้ลูกหลานประสบความสำเร็จในการเรียนและหน้าที่การงาน ส่วนลูกหลานก็จะร่วมกันอวยพรให้พ่อแม่และปู่ย่าตายายมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว  

โดยทั่วไปแล้ว ของไหว้ประกอบไปด้วย ผลไม้ 5 อย่าง หรือ หงู่กว๋า (Ngũ quả) ตามคติความเชื่อว่าเลข 5 นั้นบ่งบอกถึงความสมดุล ความเป็นระเบียบ สมปรารถนา และโชคดี นอกจากนี้ ยังได้มีการเชื่อมโยงเลขห้ากับคติความเชื่อในสังคมเวียดนามและพุทธศาสนา เช่น หงู่แห่งห์ (Ngũ Hành) ธาตุทั้งห้า ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และไม้ หงู่กวาน (Ngũ quan) ผัสสะทั้งห้า ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส หรือ หงู่ ฟุก (Ngũ phúc) ความสุขทั้งห้า ซึ่งคนเวียดนามเชื่อว่าความสุขในชีวิตคนเราประกอบด้วย ฐานะร่ำรวย เกียรติยศ อายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง และความสงบสุข เดิมนั้น ผลไม้ทั้งห้าอย่างประกอบด้วย ผล เฝิตถู่ (Phật thủ) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายนิ้วอันเรียวยาวของพระพุทธเจ้า ถือเป็นไม้มงคลซึ่งใช้บูชาบรรพบุรุษ หมายถึงการมีสมาธิและตั้งจิตแน่วแน่ในความดี กล้วยหนึ่งหวีซึ่งหมายถึงความเปราะบางและไม่แน่นอนของชีวิต ส้มโอหมายถึงแผ่นดินหรือความบริบูรณ์ ลูกพลับ คือความรุ่งเรืองและจิตใจที่มั่นคง และส้มคือความรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ แต่ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนใช้ผลไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น

ส่วนอาหารที่ขาดเสียมิได้สำหรับเต็ด คือ แบ๋งห์จึง (Bánh chưng) ทำจากข้าวเหนียว ถั่วเขียว เนื้อหมู ห่อด้วยใบไม้สีเขียว รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน และ แบ๋งห์ไส่ (Bánh dày) ทำจากข้าวเหนียวนึ่ง รูปวงกลม ซึ่งหมายถึง พระอาทิตย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคติของความอุดมสมบูรณ์ในสังคมเกษตรกรรมซึ่งดินและแสงอาทิตย์มีความจำเป็นสำหรับการเพาะปลูก และคติในเรื่องจักรวาลที่ประกอบไปด้วยดินและฟ้า พิธีการที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของวันปีใหม่เวียดนามคือ การ ซงเดิ๊ด (Xông đất) หรือ ซงหญ่า (Xông nhà) นั่นคือความเชื่อที่ว่าผู้มาเยี่ยมในวันแรกของเต๊ดจะทำนายอนาคตและโชควาสนาของเจ้าของบ้านในปีนั้น ดังนั้น คนเวียดนามจึงมักเชิญคนที่มีคุณสมบัติมาอวยพรครอบครัวของตนในเช้าวันปีใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่งงานและมีลูกแล้ว ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ต้องไม่อยู่ในช่วงที่กำลังไว้ทุกข์ บางครั้ง อาจต้องพิจารณาด้วยว่าปีเกิดต้องไม่ชงกับปีนั้นๆ ด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงเต็ดยังมีข้อห้ามต่างๆ ด้วย เช่น ห้ามกวาดบ้าน เพราะเกรงว่าอาจกวาดโชคลาภออกไปด้วย ห้ามยืมเงิน ห้ามขอน้ำ ขอไฟ ห้ามพูดคำหยาบ เป็นต้น ในอดีตยังมีการนิยมประดับตกแต่งบ้านเรือนด้วยภาพพิมพ์ ด่งโห่ (Đồng Hồ) ซึ่งเรียกตามชื่อที่มาจากหมู่บ้านด่งโห่ ในจังหวัดบั๊กนิงห์ เป็นภาพพิมพ์จากไม้แกะสลัก บนกระดาษสา แต่ปัจจุบัน ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ภาพพิมพ์ ด่ง โห่ มีลักษณะเฉพาะที่เป็นโดดเด่นและมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ด้วย เช่น ไก่ หมายถึงความรุ่งเรือง และสมปรารถนา หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น

ในปัจจุบัน เต็ด ยังคงเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของชาวเวียดนาม เรียกได้ว่ามีการเลี้ยงฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากมาย บางครอบครัวถึงกับต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาเป็นทุนรอนในการจัดเลี้ยงและเตรียมของขวัญสำหรับเทศกาลเต็ด อย่างไรก็ตาม จากสื่อต่างๆ ของเวียดนาม เราได้เห็นถึงกระแสของการพิจารณาประยุกต์การฉลองเต็ดให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น  นอกจากนี้ ในเว็บไซต์สื่อออนไลน์ยอดนิยมของเวียดนามคือ VnExpress ระบุว่าของขวัญที่เป็นที่นิยมให้กันในช่วงเต็ด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ทุนการศึกษาสำหรับลูกหลาน แพ็คเกจทัวร์ท่องเที่ยว อุปกรณ์ไฮเทค และประกันสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงหรือโรงพยาบาลต่างชาติซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะสังคมสมัยใหม่ รูปแบบการใช้ชีวิตและรสนิยมของคนรุ่นใหม่ในเวียดนาม

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ