ข้อมูลเที่ยวโมรอคโค : มาราเกช (Marrakech)

มาราเกช (Marrakech)

มาราเกช เมืองหลวงแห่งการท่องเที่ยวของโมรอคโค ตั้งอยู่ทางใต้ของเฟซลงมาประมาณเกือบ 400 กม. คนทั่วโลกมักรู้จักเมืองมาราเกชมากกว่าประเทศโมรอคโค ด้วยความที่ว่าเมืองนี้เป็นเมืองต้นตำรับของการบุกเบิกการท่องเที่ยว อัฟริกาเหนือในยุค 1960 ของบรรดาฮิปปี้ (โปรดฟังเพลง Marrakech Express ของ Crosby, Stills and Nash ที่ออกในปี 1969) และเป็นเมืองที่คนมาท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และเป็นเมืองที่ให้ความรู้สึกลึกลับชวนพิศวง ตามสไตล์การเที่ยวโมร็อคโค แต่ก็เต็มไปด้วยความเก๋เท่ และงานศิลปะมากมายจากศิลปินทั่วโลกที่มาตั้งรกรากที่นี่ ทำให้เมืองนี้ ลวดลายศิลปะเฉพาะของที่นี่เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกจะบอกว่าเรามาที่นี่ด้วยความหวังอันแรงกล้า จากการที่เคยเห็นภาพความงดงามของมาราเกชในนิตยสารและหนังสือนำเที่ยวหลายแห่ง ความงามของศิลปะของชาวมุสลิมในโมร็อคโค โรงแรมแบบริยาด (riad) ที่เป็นบ้านเก่านำมาทำใหม่ ส่วนมากมีสระว่ายน้ำในตัว ซึ่งบ้านแบบมุสลิมนี้ก็มักจะสะท้อนวัฒนธรรมและรสนิยมของคนมุสลิมคือด้านนอกมักทำแบบเรียบง่ายไม่โอ้อวด แต่พอเข้ามาด้านในแล้วก็จะเห็นถึงความงดงามวิจิตรที่เจ้าของบ้านประโคมใส่เพื่อเป็นความสุขส่วนตัวได้แบบไม่เกรงใจใคร เพราะตามหลักศาสนาอิสลามก็คือการโอ้อวดเป็นการยั่วยวนให้เกิดความอิจฉา จึงถือเป็นบาป ดังนั้นเราจะเห็นว่าการปิดหน้าตาของผู้หญิง หรือการสร้างบ้านให้ด้านนอกมีลักษณะเรียบง่ายคล้ายๆ กันก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาดีด้วยเช่นกันมาที่โมร็อคโคจะทำตัวไม่รู้เรื่องศาสนาของเขาเลยก็คงไม่ดีนัก อย่างหนึ่งของหลักศาสนาอิสลามก็คือห้ามดื่มเหล้า แต่ด้วยความที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มาราเกชจึงก็มีทุกอย่างที่คุณอยากดื่ม โดยเฉพาะในโรงแรมใหญ่ๆ หรือร้านอาหารเก๋ๆ ของเมือง อย่างหนึ่งคือว่าชาวมุสลิมที่โมร็อคโคนั้นเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนหนี่ ที่มีอิสระเสรีมากกว่านิกายชีอ่ะห์ที่เคร่งมากกว่าเยอะ ชาวมุสลิมมีหลักการทำบุญว่าเราสามารถให้ใครก็ได้ที่เราคิดว่าควรได้รับ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นพระ คือหากเราเห็นคนยากจนเดินอยู่บนถนน เราจะยื่นเงินให้เขาก็ได้ไม่มีปัญหา อีกอย่างก็คือจะเห็นว่าใน ช่วงศีลอด (Ramadan) ของชาวมุสลิมนั้นเมื่อมีการทานอาหารกันหลังตะวันตกดิน จะมีการเผื่อแผ่ให้คนยากคนจนด้วย เพราะเป็นหนึ่งในหลักศาสนาที่ว่าของที่มีเหลือนั้นห้ามเก็บไว้เอง ต้องให้คนจน เป็นกฏข้อหนึ่งไม่ให้คนโลภมากนั่นเองมาถึงมาราเกช สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ทันทีก็คือสีชมพูมลังเมลืองของเมืองนี้  ซึ่งสีชมพูเป็นสีประจำเมืองมาราเกชแทนสีดินแดงเอกลักษณ์ของที่นี่ มาราเกชเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 11 เป็นเมืองในเส้นทางการค้า เมืองสุดท้ายของในพื้นที่โมร็อคโคก่อนถึงทะเลทรายซาฮาร่า จึงเป็นทั้งเมืองหน้าด่านสำหรับคนที่กำลังจะเดินทางออกสู่ทะเลทราย ที่จะเตรียมเสบียงกรัง ข้าวของก่อนเดินทางไกล และเป็นเมืองแรกที่คนเดินทางกลับมาจากทะเลทรายจะแวะพัก ก่อนไปต่อที่เมืองอื่นๆ ของประเทศ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มาราเกชจะมีชื่อเสียงเรื่องชิลด์เอ้าท์และช็อปปิ้งมาจนถึงปัจจุบันมาราเกชแตกต่างจากเฟซตรงที่ว่า แต่ละปีที่นี่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกในจำนวนเยอะกว่ามาก ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวที่นี่แตกกระจายออกจากเมืองเก่า (เมดีน่า) และกลายพันธุ์มาเป็นร้านอาหารเก๋ๆ ร้านขายของ และสังคมใหม่นอกเมดีน่าโดยเมดีน่าในปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ขายนักท่องเที่ยว มีแต่ร้านขายสินค้าพื้นถิ่นและโรงแรมแบบริยาดมากกว่าที่จะเป็นเมืองเก่าที่คนพื้นถิ่นอยู่อาศัยกันจริงๆ เหมือนเฟซ นอกจากนั้นหากคุณเป็นคนชอบติดตามวงการแฟชั่นก็คงจะพอรู้ว่านักออกแบบหลายๆ คนก็มีบ้านอยู่ที่เมืองนี้ หรือหากใครไม่มีบ้านอยู่ ก็มักเดินทางมาพักผ่อนที่นี่อยู่บ่อยๆ นักออกแบบชื่อก้องโลกอย่างอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurant) ก็มีบ้านอยู่ที่มาราเกชที่ปัจจุบันบริเวณสวน Majorelle Gardens (Avenue Yacoub El-Mansour เปิดทุกวัน 8.00 – 17.30น. ค่าเข้าคนละ 30 เดอร์แร่ม) ของเขาอันเป็นสถานที่โปรดและโปรยอังคารของเขา 
(YSL เสียชีวิตในปี 1988) ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนี้แต่การเที่ยวมาราเกชนั้น สำหรับนักท่องเที่ยวส่วนมาก ก็คงต้องเริ่มที่จัตุรัส จาม่า เอล ฟีน่า (Jemaa El Fna) ที่เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งอย่างของเมืองนี้อยู่ดี พื้นที่จัตุรัสแห่งนี้เป็นพื้นที่เปิดอันเป็นศูนย์กลางของเมือง เป็นที่ทำธุรกิจมากมายและเป็นที่เดินที่มีเพียงที่เดียวสำหรับนักท่องเที่ยว สำหรับเราสองคนที่เคยเห็นความขลังของเฟซมาก่อนหน้า ลานกว้างที่เต็มไปด้วยพ่อค้า คนเลี้ยงงู นักดนตรีของลานนี้ไม่ได้ทำให้เราตื่นเต้นเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อไกด์ประจำกลุ่มของเรา นายสตีฟ ขู่ไว้ตั้งแต่ก่อนลงจากรถว่า “ไม่ว่าคุณมองอะไร เขาจะถือว่าคุณซื้อแล้ว ต้องจ่ายเงิน แล้วหากคุณถ่ายรูปอะไรคุณก็ต้องจ่ายเงิน” 
นี่คือวัฒนธรรมของคนที่นี่ ดังนั้นการลงไปเดินเที่ยวจัตุรัส จาม่า เอล ฟีน่าของเรา จึงเป็นเหมือนเดิม คือต้องแอบถ่ายรูป และหลบสายตาพ่อค้าที่จะมาเดินพันไปมาพยายามขายสินค้าให้เราตลอดเวลา จัตุรัส จาม่า เอล ฟีน่า อดีตคือลานพาเหรดหน้าพระราชวังของกษัตริย์ และต่อมาเมื่อกษัตริย์ย้ายพระราชวังไปด้านใต้ของเมือง ลานนี้ก็กลายเป็นลานประหารชีวิตนักโทษ ที่เมื่อโดนตัดหัวประหารแล้ว ก็ยังถูกนำหัวมาเสียบประจานที่ลานนี้ด้วย เดินลานนี้จากลานจอดรถด้านหน้า ผ่านแผงน้ำส้มคั้นเรียงราย ไปเคียงคู่กับแผงขายผลไม้แห้ง เรื่อยเข้าไปก็จะเจอตัวตลาดที่เขาเรียกว่าซู๊ค (souk) มีร้านรวงขายของงานประมาณเดียวกันทั่วตลาด เช่น เครื่องหนังแบบต่างๆ ลานตา เครื่องโลหะ สมุนไพร
 เครื่องประดับ กระเป๋าสาน เสื้อผ้า เดินแล้วให้ความรู้สึกเหมือนสวนจตุจักรอย่างไรอย่างนั้น แต่เนื่องจากเราสองคนผ่านเฟซมาแล้ว เลยรู้หลักการของการช็อปปิ้งอย่างหนึ่งไว้ว่า คุณไม่จำเป็นที่จะต้องได้ของที่ราคาถูกที่สุด แต่หากคุณพอใจ ชอบและราคานั้นเป็นราคาที่คุณรับได้ ก็แนะนำให้ซื้อไปเถอะ เพราะการต่อราคาให้ได้ถูกมากๆ กับการที่เราได้ของที่พอใจ ได้ใช้ หรือเป็นที่ระลึกทางใจ ย่อมจะมีคุณค่ามากกว่า อีกอย่างมองคนขายของที่นี่ ก็ทำให้เห็นว่าคนขายและคนซื้อก็เหมือนกันทั่วโลก ชาวมาราเกชที่ขายของอยู่นี่ ก็เหมือนพี่น้องเราที่ขายอยู่ที่ประเทศไทย เห็นนักท่องเที่ยวมาถึงถิ่นก็อยากจะขาย และก็มีบ้างบางเจ้าที่เรียกราคาเว่อร์มาก ทางที่ดี ถามราคาไปเรื่อยๆ เพื่อให้พอรู้ราคาคร่าวๆ แล้วค่อยลงมือต่อเป็นดีที่สุดค่ะจะได้ไม่เหนื่อยมากหาก ชอบช็อปปิ้งแบบต้องต่อล้อต่อเถียงกับคนขายทุกวินาที แนะนำว่ามามาเกซทั้งที่ก็ควรมาช็อปปิ้งที่ตลาดแห่งนี้เลยค่ะ เพราะที่นี่มีทุกอย่างที่คุณอยากจะได้กลับเป็นของที่ระลึกจากโมร็อคโค และราคาไม่ได้แพงเลยค่ะ แต่หากคุณอยากชมเมือง นอกจากจะสามารถหาร้านนั่งรอบๆ จตุรัสแห่งนี้เพื่อดื่มกาแฟ ทานอาหารและดูวิวแล้ว สามารถเดินเล่นเรื่อยออกไปชมมัสยิดคูโทเบีย (Koutoubia Mosque) ที่มีหอสูงเป็นสัญลักษณ์สำคัญและดังที่สุดของเมืองนี้ และเดินเรื่อยออกมาด้านนอกเมดีน่า มาสู่เมืองใหม่ที่เรียกกันว่า Plaza ที่ชาวมาราเกชสมัยใหม่ใช้ชีวิตกันส่วนมาก และมีร้านอาหารเก๋ๆ เรียงตัวกันมากมายโดยเฉพาะย่านไปรษณีย์กลาง (La Poste) ของเขาที่พวกเราไปทานร้าน Le Grand Caf? de la Poste (Gueliz, Corner Boulevard Mansour Eddahbi & Anevue Imam Malik, www.grandcafedelaposte.com)ร้านอาหารฝรั่งเศสเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1925 ที่เก๋มากๆ อย่าลืมแต่งตัวสวยๆ เป็นฮิปปี้โมเดิร์นมาตอนเย็น แล้วเริ่มด้วยค็อกเทลและอาหารว่างแบบฟิงเกอร์ฟู๊ด ก่อนเข้าไปนั่งดินเนอร์ เปิดไวน์ให้เข้ากับอาหารฝรั่งเศส ที่มีการประยุกต์นำเครื่องเทศของโมร็อคโคมาใส่เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ และซึมซับบรรยากาศความเก่าแก่ของการตกแต่งด้วยกระจกเงาโบราณ พรมบาร์เบอร์โบราณ และปล่อยให้เสียงเพลงเพลงพื้นเมืองของโมร็อคโกพาคุณไปเข้าไปในโลกแห่งความจริงที่เหมือนกับจินตนาการที่คุณมีต่อประเทศนี้ เนื่องจากอยู่ติดกับทะเลทราย มาราเกชสามารถร้อนได้มากจนทรมาณในหน้าร้อน จึงไม่ขอแนะนำให้เที่ยวในช่วงนั้น เราไปมาราเกชตอนปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่เมืองอื่นๆ ของยุโรปเช่นมาดริดยังหนาวอยู่ ที่มาราเกชร้อนมากจนต้องซื้อรองเท้าแตะใส่ค่ะอีกช่วงที่ไม่แนะนำให้มาเที่ยวก็คือช่วงศีลอดประจำปี เพราะที่นี่จะเงียบมาก ดังนั้นควรวางแผนให้ดี โดยสามารถค้นหาช่วงศีลอดของแต่ละปีได้ทางอินเทอร์เน็ตเช่น Wikipedia หาคำว่า “Ramadan Calendar”


Credit : ohsirin

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ