สังเวชนียสถานแห่งที่ 1 : สวนลุมพินี (Lumbini)
สังเวชนียสถานแห่งที่ 1 : สวนลุมพินี (Lumbini)
สถานที่ประสูติพระรูปกายของพระสิทธัตถโคตมพระพุทธเจ้า แห่งศากยวงศ์
สวนลุมพินี
ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาล อยู่ในแดนชมพูทวีปหรือประเทศอินเดีย บริเวณฝั่งแม่น้ำโรหิณี เขตแคว้นศากยะ เป็นบริเวณกึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์เมืองหลวงของพระเจ้าสุท -โธทนะ กับกรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป
คราวเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะครองนครกบิลพัสดุ์ มีพระอัครมเหสีนามว่า พระนางสิริมหามายา ต่อมาพระเทวีทรงพระครรภ์ เมื่อพระนางมีครรภ์แก่จวนครบ 10 เดือน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พระนางสิริมหามายาเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อไปมีพระประสูติกาลที่กรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระราชบิดาของพระนาง ตามขนบธรรมเนียมของคนที่อยู่บริเวณดินแดนแห่งนี้สมัยนั้นซึ่งถือปฏิบัติกันมา ฝ่ายหญิงจะต้องเดินทางไปคลอดบุตรที่บ้านมารดาบิดาของตนเอง เมื่อขบวนยาตราไปได้ประมาณ 20 กิโลเมตร จากเมืองกบิลพัสดุ์ถึงป่าลุมพินีซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะต่อกัน ขบวนก็ได้แวะพัก ณ ป่าลุมพินี แห่งนี้ ในขณะที่พักอยู่นั่นเอง พระนางก็ประชวรพระครรภ์จะประสูติบรรดาผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าจะไปยังกรุงเทวทหะตามความประสงค์เดิมคงไม่ทันการเสียแล้ว จึงพร้อมใจกันจัดที่ประสูติถวายอย่างกะทันหันที่ใต้ร่มไม้สาละต้นหนึ่ง ซึ่งพระนางก็ประทับยืนยื่นพระหัตถ์เบื้องขวาเหนี่ยวกิ่งต้นไม้สาละไว้และแล้วก็ประสูติพระโอรสอย่างง่ายดาย ตำนานกล่าวไว้ว่าพระนางมิได้ทรงเจ็บปวด คลอดพระโอรสสะดวกเหมือนเทน้ำจากกระบอกฉะนั้น พระโอรสก็มิได้แปดเปื้อนด้วยมลทินแม้แต่น้อย ฝ่ายพระราชกุมาร พอพ้นจากพระครรภ์พระมารดาแล้วก็ประทับยืนและทรงย่างพระบาทไปได้ 7 ก้าว ได้เปล่งพระวาจาบุพพนิมิตแห่งพระโพธิญาณว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เราจักเป็นใหญ่และประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดของเราครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย การเกิด ต่อไป
คงไม่มีอีกแล้ว” พระราชกุมารทรงอุบัติในท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม พอประสูติได้เพียง 7 วันเท่านั้น พระมารดาก็ทิวงคต พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาก็ได้มอบการเลี้ยงดูพระราชกุมารให้แก่พระนางปชาบดีโคตรมี ซึ่งเป็นพระน้านาง และนางเป็นพระมเหสีองค์ที่สองของพระเจ้าสุทโธทนะ บริเวณที่ใกล้ลุมพินีวัน มีสถานที่สำคัญที่น่าศึกษาอยู่คือ ภูเขาหิมาลัย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ด้านคือ มหาวัน 1 จุลวัน 1
มหาวัน คือ ภูเขาที่หนาทึบไปด้วยต้นไม้นานาชนิด มีน้ำแข็งหรือหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 20,000 ฟุตขึ้นไป
จุลวัน คือ ภูเขาเล็กๆ ที่มากไปด้วยต้นไม้นานาชนิด อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 12,000 – 15,000 ฟุต แต่ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นสถานที่ประสูตินั้น มิได้อยู่ในเขตมหาวันและจุลวันซึ่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม
สภาพลุมพินีในปัจจุบัน
ที่ตั้งของลุมพินีในปัจจุบัน อยู่ในเขตประเทศเนปาล อำเภอไภราวา แคว้นอูธ เป็นชนบทเล็กๆของประเทศเนปาลติดกับเขตประเทศอินเดียตอนเหนือ อยู่ห่างจากติเลาราโกต ประมาณ 19 กิโลเมตร หรือประมาณ 20 ถึง 22 กิโลเมตร
ถาวรวัตถุศักดิ์สิทธิ์บริเวณลุมพินี
1. เสาหินพระเจ้าอโศก
ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสถานที่ซึ่งเคยเป็นกรุงกบิลพัสดุ์ กับกรุงเทวทหะเดิม โดยห่างจากกบิลพัสดุ์ประมาณ 19 กิโลเมตร และห่างจากเทวทหะประมาณ 20 กิโลเมตร ในอดีตหลังจากสมัยพระเจ้าอโศกแล้ว เสานี้จมอยู่ใต้ดิน ปรากฏให้เห็นเพียงส่วนปลายเสาเท่านั้น ในตอนแรกคาดว่าจะมีผู้พบเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นเสาศิลาของพระเจ้าอโศก จึงจารึกอักษรเป็นภาษาทิเบต น่าจะเป็นพวกคนเลี้ยงสัตว์ประจำหมู่บ้านบริเวณนั้นขีดเขียนเล่นตามประสา และสันนิษฐานได้ต่อไปว่า บริเวณนี้ยุคหลังจากพระเจ้าอโศก คงจะเป็นถิ่นที่ชาวทิเบตอาศัยอยู่มาก หรืออาจจะเป็นพวกชาวพุทธทิเบตเดินทางมาแสวงบุญจารึกไว้ก็เป็นได้ ปัจจุบันอักษรทิเบตที่จารึกไว้ยังปรากฏให้เห็นอยู่ห่างจากยอดเสาประมาณ 2 เมตร
2. วิหารมายาเทวี
สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระนางสิริมหามายา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 241 หรือในยุคเดียวกันกับที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างเสาศิลานั่นเอง วิหารนี้สร้างยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 3 เมตร มีบันไดขึ้นลง 2 ด้าน ตั้งอยู่ใกล้เสาศิลาของพระเจ้าอโศก ตัววิหารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณพื้นที่ภายในวิหารมีสถานที่สำหรับบูชา จุคนได้ครั้งละประมาณ 7-8 คน
3. ภาพหินแกะสลักพระนางสิริมหามายา
กำเนิดของภาพหินแกะสลักพระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรส ซึ่งกษัตริย์มัลละแห่งราชวงศ์นาคะ ได้โปรดให้สร้างภาพหินแกะสลักพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรสขึ้นไว้เป็นพุทธบูชา เมื่อประมาณ พ.ศ. 1700-2100 ท่าน พี.ซี. มุเขอร์จี ได้ค้นพบในปี ค.ศ. 1899 ลักษณะของภาพหินแกะสลักตรงตามข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีทุกประการ คือเป็นรูปของพระสิริมหามายาทรงใช้พระหัตถ์เบื้องขวาจับกิ่งต้นไม้ ขณะที่ประสูติพระราชโอรสพระกุมารซึ่งประสูติออกมาประทับยืนตรง มีดอกบัวบานรองรับพระบาท และรอบๆพระเศียรมีรัศมีปรากฏอยู่มีรูปเทวดาหลั่งด้วยภาชนะ และมีรูปเทวดากำลังโปรยดอกไม้
4. สระสรงสนานพระวรกาย
อยู่ห่างจากวิหารมายาเทวีมาทางด้านขวามือ ตามตำนานเดิมบอกว่าเป็นวงกลมรี แต่ปัจจุบันมีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดกว้างยาวประมาณ 30 x 30 เมตร
วัดไทยลุมพินี วัดไทยลุมพินี