สังเวชนียสถาน

สังเวชนียสถาน
เส้นทางพุทธดำเนิน เกิดสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง คือ  :: สถานที่ประสูติ, ตรัสรู้, ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ::

สังเวชนียสถาน (อ่านว่า สังเวชะนียะ-) แปลว่า สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เป็นคำที่ใช้เรียกสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ
สังเวชนียสถาน หมายถึงสถานที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้าเกิดความแช่มชื่น เบิกบาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี เมื่อได้ไปพบเห็น

สังเวชนียสถาน มี ๔ แห่ง คือ
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๑ คือสถานที่ประสูติแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย และสถานที่ประสูตินี้ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนอินเดีย-เนปาลประมาณ ๓๒ กิโลเมตร ปัจจุบันสังเวชนียสถานแห่งนี้ ภาษาทางราชการเรียกว่า “รุมมินเด" แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังเรียกว่า "ลุมพินี"

สังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ คือสถานที่ตรัสรู้นี้ แต่เดิมทีเดียวในสมัยพุทธกาลนั้น คือ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองคยา แคว้นมคธ ซึ่งมีเมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวง ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้นี้เรียก ตำบลพุทธ
คยา ขึ้นอยู่กับจังหวัดคยา (ห่างจากจังหวัดคยา ๑๒ กิโลเมตร) รัฐพิหาร มีเมืองหลวงชื่อ ปัฎนะ หรือ ปัฎนา (หรือชื่อเดิมว่า ปาฎลีบุตร) 

สังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ คือ สถานที่แสดงปฐมเทศนา หรือสถานที่พระตถาคตเจ้าทรงยังพระอนุตรธัมจักให้เป็นไป สถานที่นี้อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ปัจจุบันเรียกสารนาถ ห่างจากเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร ซึ่งเมืองพาราณสีนี้อยู่ห่างจากเมืองพุทธคยา สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร

สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ คือ สถานที่ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุดับไม่มีส่วนเหลือ คือทั้งกิเลส ทั้งเบญจขันธ์ดับหมด ตามปกติพระอรหันต์ทั่วไปจะนิพพาน ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกนั้นเป็นการดับกิเลส ส่วนเบญจขันธ์ยังอยู่ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพาน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่จิตเข้าสู่แดนพระนิพพานเท่านั้น เป็นจิตที่สะอาด ไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์แล้ว ดังเช่นพระพุทธเจ้า นิพพานครั้งแรกนี้เมื่อวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ส่วนนิพพานครั้งที่ ๒ ก็คือ อนุปาทิเสสนิพพาน ดังได้กล่าวแล้วนั้นเอง

รายละเอียดสถานที่สำคัญที่เดินทางไปสังเวชนียสถาน

สังเวชนียสถานแห่งที่ 1 : สวนลุมพินี (Lumbini)
สถานที่ประสูติพระรูปกายของพระสิทธัตถโคตมพระพุทธเจ้า แห่งศากยวงศ์

สวนลุมพินี 
ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาล อยู่ในแดนชมพูทวีปหรือประเทศอินเดีย บริเวณฝั่งแม่น้ำโรหิณี เขตแคว้นศากยะ เป็นบริเวณกึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์เมืองหลวงของพระเจ้าสุท -โธทนะ กับกรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป
คราวเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะครองนครกบิลพัสดุ์ มีพระอัครมเหสีนามว่า พระนางสิริมหามายา ต่อมาพระเทวีทรงพระครรภ์ เมื่อพระนางมีครรภ์แก่จวนครบ 10 เดือน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พระนางสิริมหามายาเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อไปมีพระประสูติกาลที่กรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระราชบิดาของพระนาง ตามขนบธรรมเนียมของคนที่อยู่บริเวณดินแดนแห่งนี้สมัยนั้นซึ่งถือปฏิบัติกันมา ฝ่ายหญิงจะต้องเดินทางไปคลอดบุตรที่บ้านมารดาบิดาของตนเอง เมื่อขบวนยาตราไปได้ประมาณ 20 กิโลเมตร จากเมืองกบิลพัสดุ์ถึงป่าลุมพินีซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะต่อกัน ขบวนก็ได้แวะพัก ณ ป่าลุมพินี แห่งนี้ ในขณะที่พักอยู่นั่นเอง พระนางก็ประชวรพระครรภ์จะประสูติบรรดาผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าจะไปยังกรุงเทวทหะตามความประสงค์เดิมคงไม่ทันการเสียแล้ว จึงพร้อมใจกันจัดที่ประสูติถวายอย่างกะทันหันที่ใต้ร่มไม้สาละต้นหนึ่ง ซึ่งพระนางก็ประทับยืนยื่นพระหัตถ์เบื้องขวาเหนี่ยวกิ่งต้นไม้สาละไว้และแล้วก็ประสูติพระโอรสอย่างง่ายดาย ตำนานกล่าวไว้ว่าพระนางมิได้ทรงเจ็บปวด คลอดพระโอรสสะดวกเหมือนเทน้ำจากกระบอกฉะนั้น พระโอรสก็มิได้แปดเปื้อนด้วยมลทินแม้แต่น้อย ฝ่ายพระราชกุมาร พอพ้นจากพระครรภ์พระมารดาแล้วก็ประทับยืนและทรงย่างพระบาทไปได้ 7 ก้าว ได้เปล่งพระวาจาบุพพนิมิตแห่งพระโพธิญาณว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เราจักเป็นใหญ่และประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดของเราครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย การเกิด ต่อไปคงไม่มีอีกแล้ว” พระราชกุมารทรงอุบัติในท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม พอประสูติได้เพียง 7 วันเท่านั้น พระมารดาก็ทิวงคต พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาก็ได้มอบการเลี้ยงดูพระราชกุมารให้แก่พระนางปชาบดีโคตรมี ซึ่งเป็นพระน้านาง และนางเป็นพระมเหสีองค์ที่สองของพระเจ้าสุทโธทนะ บริเวณที่ใกล้ลุมพินีวัน มีสถานที่สำคัญที่น่าศึกษาอยู่คือ ภูเขาหิมาลัย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ด้านคือ มหาวัน 1 จุลวัน 1 

มหาวัน คือ ภูเขาที่หนาทึบไปด้วยต้นไม้นานาชนิด มีน้ำแข็งหรือหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 20,000 ฟุตขึ้นไป
จุลวัน  คือ ภูเขาเล็กๆ ที่มากไปด้วยต้นไม้นานาชนิด อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 12,000 – 15,000 ฟุต แต่ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นสถานที่ประสูตินั้น มิได้อยู่ในเขตมหาวันและจุลวันซึ่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม

สภาพลุมพินีในปัจจุบัน
ที่ตั้งของลุมพินีในปัจจุบัน อยู่ในเขตประเทศเนปาล อำเภอไภราวา แคว้นอูธ เป็นชนบทเล็กๆของประเทศเนปาลติดกับเขตประเทศอินเดียตอนเหนือ อยู่ห่างจากติเลาราโกต ประมาณ 19 กิโลเมตร หรือประมาณ 20 ถึง 22 กิโลเมตร

ถาวรวัตถุศักดิ์สิทธิ์บริเวณลุมพินี
1. เสาหินพระเจ้าอโศก
ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสถานที่ซึ่งเคยเป็นกรุงกบิลพัสดุ์ กับกรุงเทวทหะเดิม โดยห่างจากกบิลพัสดุ์ประมาณ 19 กิโลเมตร และห่างจากเทวทหะประมาณ 20 กิโลเมตร ในอดีตหลังจากสมัยพระเจ้าอโศกแล้ว เสานี้จมอยู่ใต้ดิน ปรากฏให้เห็นเพียงส่วนปลายเสาเท่านั้น ในตอนแรกคาดว่าจะมีผู้พบเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นเสาศิลาของพระเจ้าอโศก จึงจารึกอักษรเป็นภาษาทิเบต น่าจะเป็นพวกคนเลี้ยงสัตว์ประจำหมู่บ้านบริเวณนั้นขีดเขียนเล่นตามประสา และสันนิษฐานได้ต่อไปว่า บริเวณนี้ยุคหลังจากพระเจ้าอโศก คงจะเป็นถิ่นที่ชาวทิเบตอาศัยอยู่มาก หรืออาจจะเป็นพวกชาวพุทธทิเบตเดินทางมาแสวงบุญจารึกไว้ก็เป็นได้ ปัจจุบันอักษรทิเบตที่จารึกไว้ยังปรากฏให้เห็นอยู่ห่างจากยอดเสาประมาณ 2 เมตร
2. วิหารมายาเทวี
สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระนางสิริมหามายา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 241 หรือในยุคเดียวกันกับที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างเสาศิลานั่นเอง วิหารนี้สร้างยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 3 เมตร มีบันไดขึ้นลง 2 ด้าน ตั้งอยู่ใกล้เสาศิลาของพระเจ้าอโศก ตัววิหารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณพื้นที่ภายในวิหารมีสถานที่สำหรับบูชา จุคนได้ครั้งละประมาณ 7-8 คน
               
3. ภาพหินแกะสลักพระนางสิริมหามายา
กำเนิดของภาพหินแกะสลักพระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรส ซึ่งกษัตริย์มัลละแห่งราชวงศ์นาคะ ได้โปรดให้สร้างภาพหินแกะสลักพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรสขึ้นไว้เป็นพุทธบูชา เมื่อประมาณ พ.ศ. 1700-2100 ท่าน พี.ซี. มุเขอร์จี ได้ค้นพบในปี ค.ศ. 1899 ลักษณะของภาพหินแกะสลักตรงตามข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีทุกประการ คือเป็นรูปของพระสิริมหามายาทรงใช้พระหัตถ์เบื้องขวาจับกิ่งต้นไม้ ขณะที่ประสูติพระราชโอรสพระกุมารซึ่งประสูติออกมาประทับยืนตรง มีดอกบัวบานรองรับพระบาท และรอบๆพระเศียรมีรัศมีปรากฏอยู่มีรูปเทวดาหลั่งด้วยภาชนะ และมีรูปเทวดากำลังโปรยดอกไม้

4. สระสรงสนานพระวรกาย
อยู่ห่างจากวิหารมายาเทวีมาทางด้านขวามือ ตามตำนานเดิมบอกว่าเป็นวงกลมรี แต่ปัจจุบันมีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดกว้างยาวประมาณ 30 x 30 เมตร 

สังเวชนียสถานแห่งที่ 2 : พุทธคยา(Bodhgaya)
สถานที่ตรัสรู้
พุทธคยา(Bodhgaya) 
ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เดิมทีเป็นบริเวณหมู่บ้านอุรุเวลาซึ่งปัจจุบันได้เพี้ยนมาเป็นอุเรล อยู่ห่างจากสถานีรถไฟเมืองคยา ประมาณ 10 กิโลเมตร เราสามารถเดินทางโดยรถไฟจากปัตนะถึงคยาระยะทาง 110 กิโลเมตร ถ้าเป็นทางรถยนต์ก็ประมาณ 185 กิโลเมตร โดยผ่านทางเมืองราชคฤห์

ประวัติ
    พุทธคยา ถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นี่ เป็นเวลา 2,500 ปีมาแล้ว สถานที่นี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมของการจาริกแสวงบุญจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วโลกและจัดเป็นสังเวชนีย-สถานแห่งที่ 2 ใน 4 แห่ง

สถานที่สำคัญ

1. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นปัจจุบันนี้สืบทอดมาจากต้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งก่อนตรัสรู้ตามลำดับ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ต้น
ต้นที่ 1 เริ่มในสมัยพุทธกาล เกิดขึ้นวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นเวลา 352 ปี
ต้นที่ 2 เริ่มในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สิ้นสุดลงในสมัยของกษัตริย์ฮินดู ในแคว้นแบงกอลพระนามว่า สาสังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. 1143-1163 มีอายุราว 871 – 891 ปี
ต้นที่ 3  พระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เมารยะ ทรงปลูกขึ้นแทนต้นที่ 2 มาสิ้นสุดในสมัยอินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2521 มีอายุราว 1258-1278 ปี
ต้นที่ 4 นายพลเซอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ปลูกขึ้นแทนต้นที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2423

2.  พระเจดีย์มหาโพธิ์
พระเจดีย์มหาโพธิ์แห่งนี้ คือสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้ ณ ใต้ต้นโพธิ์ พระเจดีย์ใหญ่ มีขนาดความสูง 180 ฟุต มีพระเจดีย์เล็ก 4 องค์แวดล้อม สันนิษฐานกันว่า สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 7 และได้ถูกบูรณะซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง
ภายในห้องโถงของพระมหาเจดีย์มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่พระพักตร์เปี่ยมไปด้วยเมตตาและนิ้วพระหัตถ์ขวาที่ชี้ลงที่พื้นดิน
3. พระแท่นวัชอาสน์
พระแท่นวัชรอาสน์ หรือ พระแท่นเพชรแกะสลักด้วยเนื้อหินทรายเป็นรูปหัวเพชร กว้าง 4.10 นิ้ว ยาว 7.6 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง ประดิษฐานไว้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ พื้นแท่นแกะสลักเป็นรูปลวดลายแก้วชิงดวงเป็นรูปหัวแหวน มีรูปดอกบัวห่านฟ้า และดอกมณฑทรพ พระแท่นวัชอาสน์นี้เคยถูกทำลายเมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 13 แตกเป็น 5 เสี่ยง นายพลเซอร์ คันนิ่งแฮม ได้บูรณะให้ดีดังเดิม
4. สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงอุปมาสัตว์โลกดุจดอกบัว 4 เหล่า
หลังจากตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่าธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากที่สัตว์โลกจะเข้าใจถึงจึงไม่ประสงค์จะแสดงธรรม แต่เมื่อทรงเปรียบเทียบสัตว์โลกกับดอกบัว 4 เหล่า จึงได้ตั้งพระทัยที่จะแสดงธรรม แล้วทรงเปรียบเทียบมนุษย์ดุจดอกบัว 4 เหล่าคือ
4.1 อุคฆติตัญญู  ดอกบัวที่พ้นน้ำแล้วพอถูกแสงอาทิตย์ก็บานเปรียบเหมือนบุคคลผู้มีสติปัญญาแก่กล้าพอได้รับคำแนะนำเพียงหัวข้อเล็กน้อยก็รู้แจ้งหรือบรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็วพลัน
4.2 วิปจิตัญญู   ดอกบัวที่เสมอน้ำมีโอกาสที่จะโผล่พ้นน้ำและรับแสงพระอาทิตย์เบ่งบานในเร็ววันได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีสติปัญญาดี พอได้รับคำแนะนำเพียงนิดหน่อย ก็รู้แจ้งเห็นจริงหรือบรรลุมรรคผลนิพพานในวันต่อไปได้
4.3 เนยยะ  ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำมีโอกาสจะโผล่พ้นน้ำในวันข้างหน้าได้ แต่อาจจะใช้เวลานานเปรียบเหมือนบุคคลผู้มีสติปัญญาปานกลาง ก็มีโอกาสรู้แจ้งเห็นจริง และบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในโอกาสต่อไปภายหน้า
4.4 ปทปรมะ  ดอกบัวที่จมอยู่ใต้น้ำติดโคลนตม อาจจะเป็นอาหารของปลาและเต่าเปรียบเหมือนบุคคลผู้โง่เขลาอับปัญญาไม่สามารถจะรู้แจ้งเห็นจริงตามคำแนะนำได้ก็มีแต่จะจมอยู่ในอบายภูมิต่อไป
5. สถานที่ที่มารทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
พญามารได้มาเข้าเฝ้าหลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วว่า ได้เวลาที่จะเสด็จ ดับขันธปรินิพพานแล้วแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เราจักไม่ปรินิพพาน จนกว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาจะบรรลุธรรมตามที่เราแสดงไว้ และจนกว่าพระพุทธศาสนาจะประดิษฐานมั่นคงแก่มวลมนุษย์โลก เมื่อกาลอันควรมาถึงจึงจักปรินิพพาน
6. สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข 7 สัปดาห์
หลังจากการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 แห่ง ตลอด 7 สัปดาห์ ดังนี้คือ
6.1  สัปดาห์แรกประทับนั่งที่พระแท่นวัชรอาสน์
พระองค์ทรงประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ์  โดยประทับนั่งพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลม ตลอด 7 วัน
6.2  สัปดาห์ที่ 2 ที่อนมิสเจดีย์
พระองค์ทรงดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต้นโพธิ์ ทรงยืนพิจารณาทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรเลย 7 วัน ทรงหวนระลึกถึงอดีตที่ทรงชำระกิเลสหมดสิ้นผ่องใส ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ประทับยืนนั้นเรียกว่า อนิมิสเจดีย์
6.3 สัปดาห์ที่ 3 ที่รัตนจงกรมเจดีย์
 ทรงเสด็จเดินจงกรมอยู่ทางทิศเหนือข้างพระเจดีย์ใหญ่ ตรงจุดนี้พระองค์ทรงเดินจงกรมตลอด 7 วัน เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์
6.4 สัปดาห์ที่ 4 ที่รัตนฆรเจดีย์
 เทวดาเนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระองค์ประทับ    นั่งบนบัลลังก์ พิจารณาอภิธรรมอันลึกซึ้งตลอด 7 วัน จึงเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์

6.5 สัปดาห์ที่ 5 ที่ต้นอชปาลนิโครธ
พระพุทธองค์เสด็จออกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์มุ่งสู่ต้นอชปาลนิโครธ อยู่ทางทิศตะวันออกตรงข้ามกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ ธิดามาร 3 นาง คือ นางราคะ นางอรตี และนางตัณหาเข้ามาแสดงอาการยั่วยวนพระพุทธองค์ แต่พระองค์ทรงชนะด้วยพุทธบารมี ทรงชนะจอมมาร คือพญามารจนทรงได้พระนามว่าพระผู้พิชิตมาร พระองค์จะไม่กลับมาแพ้อีกอย่างแน่นอน
6.6 สัปดาห์ที่ 6 ที่สระมุจลินทร์
 ทรงเสวยวิมุติสุขที่สระมุจลินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ห่างจากต้นโพธิ์ราว 4 กิโลเมตร ทรงประทับนั่งที่นั่นตลอด 7 วัน 7 คืน มีพญานาคแผ่พังพานกำบังฝนให้แก่พระพุทธองค์
6.7   สัปดาห์ที่ 7 ที่ต้นราชายตนะ
7 ภูเขาดงคสิริ
คือสถานที่ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ก่อนที่จะเสด็จมาที่ต้นโพธิ์ทรงกระทำทุกกิริยา คือทรงบำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์เพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์
8 เขาพรหมโยนี (คยาสีสะประเทศ)
ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองคยา ตรงไปจะเข้าตัวเมืองคยา เดิมเรียกว่า “คยาสีสะ” ปัจจุบันเป็น ศาสนสถานของชาวฮินดู เรียกว่า พรหมโยนี เพราะมีก้อนหินทับกันดูเหมือนโยนีของพระพรหม มีความสำคัญต่อพุทธศาสนา คือ
1. ชฏิล 3 พี่น้อง
2. พระเทวทัตต์ถูกตีเข่ายอดอก

สังเวชนียสถานแห่งที่ 3 : สารนาถ(Sarnath)
สถานที่แสดงปฐมเทศนา

สารนาถ(Saranath)
สารนาถ เป็นสถานที่สำหรับจาริกแสวงบุญที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวพุทธ อยู่ห่างจากตัวเมืองพารณสี 10 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงพาราณสี อันเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งศาสนาฮินดูภายในแคว้น ยู.พี คือ อุตรประเทศ ของรัฐบาลอินเดียปัจจุบัน 

ประวัติ
สารนาถ เดิมมีชื่อว่า “ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน” ที่ชื่อว่าสารนาถ เนื่องจากจริยาของพระพุทธองค์เมื่อคราวเป็นพระโพธิสัตว์ ได้เป็นที่พึ่งของกวาง  หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองคยาหรือพุทธคยาแล้ว พระองค์ก็ได้พิจารณาหาบุคคลผู้ที่มีอัธยาศัยเหมาะแก่การแสดงธรรมให้ฟัง ทรงทราบว่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งออกบวชติดตามพระองค์ได้พากันมาอยู่ที่นี่ พระองค์จึงเสด็จมาเพื่อแสดงธรรมโปรด
พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรก มีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ผลแห่งการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกทำให้ท่านพระโกญฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าของปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรมคือ บรรลุธรรม และขออุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ทำให้พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ประมาณ 300 ปีต่อมาเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ได้เสด็จมานมัสการสถานที่นี้ พระองค์ได้ทรงสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ไว้มากมายเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระพุทธเจ้า

สถานสำคัญในปัจจุบัน
1.  ธรรมเมกขสถูป
สร้างขึ้นในราว ค.ศ. 500 และเชื่อกันว่า เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา แก่ ปัญจวัคคีย์ ลวดลายดอกไม้ที่รอบองค์พระสถูป เป็นศิลปะของยุคคุปตะแต่การขุดค้นสำรวจพบว่า แผ่นอิฐข้างในพระสถูปเป็นของยุค เมารยัน จึงสันนิษฐานไว้ว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอโศก
พระสถูปเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 28 เมตรครึ่ง สูง 33 เมตรครึ่ง ช่องทั้ง 8 ช่องล้อมรอบองค์พระสถูป เป็นสัญลักษณ์แทนล้อของจักร คือ ธรรม ซึ่งก็คือธรรมจักรนั่นเอง
2.  ธรรมราชิกสถูป
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของธรรมเมกขสถูป ในปัจจุบันนี้เหลือให้เราเห็นก็แต่เพียงร่องรอยซากพระสถูปเท่านั้น
3.  เจาคันฑีสถูป
ตั้งอยู่เยื้องพิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์หลังจากที่เสด็จมาจากคยา หรือพุทธคยา พระสถูปสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ในช่วงของราชวงษ์คุปตะ ปัจจุบันพระสถูปนั้นได้สูญหายไปตามกาลเวลา
4. เสาหินพระเจ้าอโศก
พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์รุ่นแรก และส่งไปประกาศพระศาสนา 61 รูป เมื่อ พ.ศ 250 เสาสูง 15.24 เมตร จารึกอักษรพรหมี มีใจความว่าห้ามมิให้ผู้ใดทำลายสงฆ์ให้แตกกันและให้อุบาสกอุบาสิกาถืออุโบสถศีล ต่อมาเสาได้หักลง ส่วนหัวเสาซึ่งเป็นรูปสิงห์โต 4 เศียรหันหลังชนกันได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็ตกลงใช้รูปสิงห์โต 4 เศียรนี้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย
5. พิพิธภัณฑ์สารนาถ 
สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รวบรวม พระพุทธรูป วัตถุโบราณที่ขุดได้บริเวณสารนาถทั้งหมดเมื่อ ค.ศ. 1904 โบราณวัตถุที่ขุดได้ เป็นศิลปะหลายๆยุค เริ่มจากยุคเมารยัน กุษาณ คุปตะ และ อื่นๆอีกมากในพิพิธภัณฑ์สารนาถ มีดังนี้คือ
5.1   ยอดเสาอโศก
5.2   พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา
5.3   พระโพธิสัตว์


สังเวชนียสถานแห่งที่ 4 : กุสินารา (Kushinagar)
สถานที่ดับขันธปรินิพพาน

กุสินารา (Kushinagar)
กุสินาราเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางสายเศรษฐกิจในครั้งพุทธกาล เชื่อมต่อระหว่างแคว้นโกศลและแคว้นมคธ ผู้ที่จะเดินทางจากแคว้นโกศลมายังแคว้นมคธ ต้องผ่านทางเมืองปาวา กุสินารา เวสาลี ปาฏลีบุตร และนาลันทา จึงมาถึงเมืองราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พวกเจ้ามัลละแห่งกุสินารานับถือพระพุทธศาสนาเป็นส่วนมากในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองอาตุมา ประทับค้างแรมที่เมืองกุสินารา ในสวนไม้ชื่อ “พลิหรณะ”  ณ โอกาสนี้ทรงแสดงกุสินาราสูตร 1 กุสินาราสูตร 2

สภาพปัจจุบัน
เมืองกุสินาราได้กลายมาเป็นหมู่บ้านกาเซีย ตั้งอยู่ ณ จุดที่แม่น้ำราปติและแม่น้ำกันดัคน้อย มาบรรจบกัน ตั้งอยู่ในทิศตะวันออกของอำเภอโครักขปูร์ แต่หมู่บ้านกาเซียนี้เป็นเมืองขนาดเล็กอยู่ในเขตอำเภอเดโอเรีย รัฐอุตตรประเทศ
กุสินารา เป็นศูนย์กลางแห่งการจาริกแสวงบุญ เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวและผู้จาริกแสวงบุญอนุสรณ์สถานที่สำคัญ คือสถูปใหญ่ซึ่งเชื่อกันว่าองค์เดิมนั้นสร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโศกมหาราชและเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วิหารปรินิพพานที่แวดล้อมด้วยซากของปูชนียวัตถุ อันเป็นเครื่องแสดงว่า ณ ที่บริเวณแห่งนี้ เคยมีวัด วิหาร และศาสน-สถานศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ตั้งอยู่ และมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในยุคต่างๆ ที่ผ่านมา

สถานที่อื่นๆ

ราชคฤห์ (Rajgir)
    เพียงชื่อเมืองก็มีความหมายไพเราะว่าราชวัง (Raja Griha) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองปัตนะลงทางตอนใต้เพียง 102 กิโลเมตร และ 34 กิโลเมตรจากเมืองคยา เป็นเมืองที่มีความสำคัญแก่ชาวพุทธ โดยมีหนึ่งในสถานที่ที่มีชื่อเสียงคือ เขาคิชฌกูฏ (Griddhakuta Hill) เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมที่นี่หลายครั้ง  และได้มีการบันทึกพุทธธรรมคำสอนของพระองค์เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ที่เขาคิชฌกูฏแห่งนี้ยังมีบริการกระเช้าลอยฟ้าที่สามารถชมทิวทัศน์ฯโดยรอบได้ก่อนขึ้นสู่ยอดเขาเพื่อชมสถูปแบบญี่ปุ่นที่สวยงามเก่าแก่
    โดยรอบกรุงราชคฤห์ล้วนเต็มไปด้วยสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี  ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำพระเจ้าพิมพิสาร (Bimbisara Jail) ซึ่งย้อนให้รำลึกถึงพระเจ้าพิมพิสาร (ศตวรรษที่ 5-6 ก่อนคริสต์กาล) ผู้ทรงเลื่อมใสในศาสนาพุทธ และทรงเลือกใช้วาระสุดท้ายชองชีวิตที่นี่  โดยที่จุดนี้พระองค์สามารถทอดพระเนตรเห็นาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นเขาเพื่อบำเพ็ญธรรมสมาธิ
    นอกจากนี้ยังมี ป้อมพระเจ้าอชาติศัตรู (Ajat shatru’s Fort) และในบริเวณเดียวกันยังมีรูปปั้นที่สื่อถึงพระมหาปรินิพพาน ที่งดงามและมีคุณค่ามาก  ทั้งในแง่ศิลปะและประวัติศาสตร์รูปปั้นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบบนอนตะแคงขวาสื่อถึงมหาปรินิพพานด้วยการดับขันธ์ ซึ่งเป็นความศรัทธาสูงสุดของพระพุทธศาสนา
    แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีความสำคัญในกรุงราชคฤห์ อาทิเช่น สัตตธารา(Saptdhara) ซึ่งเป็นบ่อน้ำพุร้อนศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้  วัดเวฬุวนาราม (Venuvara Vihara) ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงสร้างถวายแก่องค์สัมมาสมพุทธเจ้า  สวนผลไม้ของชีวักกะ (Jivaka ‘s Mango Grove) และสระน้ำโบกธรณี (Karanda Tank) ที่พระพุทธองค์ทรงสรงน้ำและที่มีความสำคัญมากอีกแห่งคือ ถ้ำสัตตบรรณคูหา (Saptaparni Cave) ซึ่งเป็นที่ที่มีการสังคายนาครั้งแรก

 

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ