พุทธประวัติ
พุทธประวัติ
80 ปีก่อนเริ่ม ประสูติพระพุทธเจ้า พระนามเดิมว่า “ สิทธัตถะ “ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระองค์ทรงถือกำเนิดในศากยวงค์สกุลโคตมะ พระองค์ประสูติ ในวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (เดื่อนวิสาขะ) ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ (ปัจจุบันคือตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล)
๕๑ ปีก่อนพ.ศ. เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงผนวชแสวงหาโมกขธรรม เดินทางลงใต้สู่ลุ่มน้ำเนรัญชราบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ เขาดงคสิริ ๖ ปี
๔๕ ปีก่อนพ.ศ. พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เวลารุ่งอรุณ ในวันเพ็ญเดือน ๖ (เดือนวิสาขะ) ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี จากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาอย่างยิ่งยวด ขณะพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา นับแต่วันที่เสด็จออกผนวชจนถึงวันตรัสรู้ธรรม รวมเป็นเวลา ๖ ปี พระธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือ อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
ประกาศพระศาสนาครั้งแรก
พรรษาที่ ๑ พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสาวกและได้อรหันตสาวกจำนวน ๖๐ องค์แล้ว พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณทำการประกาศเผยแผ่คำสอน จนเกิดพุทธบริษัท ๔ อันมี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อย่างแพร่หลายและมั่นคง การประกาศพระพุทธศาสนาของพระองค์ได้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง โดยการจาริกไปยังหมู่บ้านชนบทน้อยใหญ่ในแคว้นต่างๆทั่วชมพูทวีป
พรรษาที่ ๒ พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชน ได้พุทธสาวกดังนี้ เสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคมในระหว่างทางได้โปรดกลุ่มภัททวัคคีย์ ๓๐ คน ที่ตำบลอุรุเวลาได้โปรดชฎิล ๓ พี่น้องคือ อุรุเวกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ กับศิษย์ อีก ๑,๐๐๐ คน ทรงเทศนาอาทิตตปริยายสูตร ที่คยาสีสะ แล้วเสด็จไปยังนครราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารถวายสวนเวฬุวันเป็นที่อาศัยแด่คณะสงฆ์ และได้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นสาวก อีก ๒ เดือนต่อมาเสด็จไปยังนครกบิลพัสดุ์ ทรงพำนักที่นิโครธาราม ทรงได้สาวกอีกมากมาย เช่น พระนันทะ พระราหุล พระอานนท์ พระเทวทัต และพระญาติอื่นๆ ต่อมาอนาถบิณฑิกเศรษฐีอาราธนาไปยังกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ได้ถวายสวนเชตวันแด่คณะสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่นี่
พรรษาที่ ๓ นางวิสาขาถวายบุพพาราม ณ กรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาที่นี่
พรรษาที่ ๔ ทรงจำพรรษาที่เวฬุวัน ณ กรุงราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธ
พรรษาที่ ๕ เสด็จโปรดพระราชบิดาจนได้บรรลุอรหัตตผล และทรงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพระญาติฝ่ายสักกะกับพระญาติฝ่ายโกลิยะเกี่ยวกับการใช้น้ำในแม่น้ำโรหิณี ต่อมาทรงอุปสมบทพระนางประชาบดีโคตมี และคณะเป็นภิกษุณี
พรรษาที่ ๖ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในกรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษา ณ ภูเขามกุลบรรพต
พรรษาที่ ๗ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ระหว่างจำพรรษาได้เสด็จไปทรงเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดายังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พรรษาที่ ๘ ทรงเทศนาในแคว้นมัคคะ ทรงจำพรรษาในเภสกฬาวัน ภัคคชนบท
พรรษาที่ ๙ ทรงเทศนาในแคว้นโกสัมพี
พรรษาที่๑๐ คณะสงฆ์ในแคว้นโกสัมพีแตกแยกกันอย่างรุนแรง พระพุทธองค์ทรงตักเตือนแต่คณะสงฆ์ไม่เชื่อฟัง พระองค์จึงเสด็จไปประทับและจำพรรษาในป่าปาลิเลยยกะ มีช้างเชือกหนึ่งมาเฝ้าพิทักษ์และรับใช้ตลอดเวลา
พรรษาที่ ๑๑ เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีปรองดองกันได้ ทรงจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ เอกนาลา
พรรษาที่ ๑๒ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่เวรัญชา และเกิดความอดอยากรุนแรงขึ้นในเวลานั้น
พรรษาที่ ๑๓ ทรงเทศนาและจำพรรษาบนภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ ๑๔ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี พระราหุลขอผนวช
พรรษาที่๑๕ เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์พระเจ้าสุปปพุทธะถูกแผ่นดินสูบเพราะขัดขวางทางโคจร
พรรษาที่ ๑๖ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่อาฬวี
พรรษาที่ ๑๗ เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี แล้วเสด็จกลับมายังอาฬวี และทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์
พรรษาที่ ๑๘ เสด็จไปยังอาฬวี ทรงจำพรรษาบนภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ ๑๙ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่บนภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่๒๐ โจรองคุลิมาลกลับใจเป็นสาวกและทรงแต่งตั้งให้พระอานนท์รับใช้ใกล้ชิดตลอดกาลทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์และทรงเริ่มบัญญัติวินัย
พรรษาที่ ๒๑-๔๔ ทรงใช้เชตวันและบุพพารามในกรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่และเป็นที่ประทับจำพรรษาเสด็จพร้อมสาวกออกเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ตามแว่นแคว้นต่างๆ
พรรษาที่ ๔๕ เป็นพรรษาสุดท้าย พระเทวทัตคิดปลงพระชนม์ กลิ้งก้อนหินจนต้องพระองค์เป็นเหตุให้พระบาทห้อพระโลหิต ทรงได้รับการบำบัดจากหมอชีวกโกมารภัตทรงปรินิพาน
พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจอยู่จนพระชนมายุ ๘๐ พรรษา พระองค์เสด็จจำพรรษาสุดท้าย ณ เมืองเวสาลี ในวาระนั้นพระพุทธองค์ทรงพระชราภาพมากแล้วทั้งยังประชวรหนักพระองค์ได้ทรงพระดำเนินจากเวสาลีสู่เมืองกุสินาราเพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองนั้น พระพุทธองค์ได้หันกลับไปทอดพระเนตรเมืองเวสาลีซึ่งเคยเป็นที่ประทับ นับเป็นการทอดทัศนาเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จต่อไปยังเมืองปาวาเสวยพระกระยาหารเป็นครั้งสุดท้ายที่บ้านนายจุนทะ บุตรนายช่างทอง พระพุทธองค์ทรงพระประชวรหนักอย่างยิ่ง ทรงข่มอาพาธประคองพระองค์เสด็จถึงสาลวโนทยาน (ป่าสาละ) ของเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานพระองค์ได้อุปสมบทแก่พระสุภัททะปริพาชกนับเป็นสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ในท่ามกลางคณะสงฆ์ทั้งที่เป็นพระอรหันต์และปุถุชนทั้งหลาย