การแต่งกายและของฝากจากภูฎาน
การแต่งกายของชาวภูฏาน
ชุดประจำชาติที่ชาวภูฏานภาคภูมิใจ
ภูฏาน ยังคงรักษารูปแบบทางวัฒนธรรมของตัวเองไว้ได้เป็นอย่างดี โดยรัฐบาลรณรงค์ให้ชาวภูฏานใส่ชุดประจำชาติเป็นชุดประจำวัน ซึ่งพระราชาธิบดีและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ได้ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ดังเช่นภาพที่คนไทยทั้งประเทศได้เห็นและประทับใจในองค์มกุฏราชกุมารของภูฏาน เจ้าชายจิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก ที่ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดประจำชาติเกือบตลอดเวลา ระหว่างที่เสด็จมาร่วมในพิธีฉลองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวครบ 60 ปีเมื่อเดือนมิถุนายน เมื่อ พ.ศ. 2549
ชุดประจำชาติของชาวภูฏานฝ่ายชาย เรียกว่า "โค" หรือ โฆ (Kho) โคเป็นชุดคล้ายกิโมโนของญี่ปุ่น เวลาสวมใส่ต้องให้ด้านซ้ายทับขวา เอาเข็มขัดคาดเอว ดึงเสื้อออกมาปิดเข็มขัดแลดูเหมือน 2 ท่อน ตรงชายเสื้อที่พับตลบขึ้นนั้น มาจากชุดชั้นในสีขาว หากเป็นหน้าร้อน นิยมใช้ปลอกแขนสวมหลอกเอาไว้ เมื่อถึงฤดูหนาว นอกเหนือจากชุดชั้นในสีขาวแล้ว ยังสามารถสวมเสื้อขนสัตว์และกางเกงเพิ่มเข้าไปตามความต้องการ
ชุดประจำชาติของชาวภูฏานฝ่ายหญิง เรียกว่า "คีร่า" (Kira) คี รา เป็นผ้าทอพื้นเมือง ขนาดประมาณ 2.5x1. 5 เมตร นำมายึดติดกันด้วยเข็มกลัดเงิน ที่มีลวดลายงดงาม 2 ตัว ตรงบริเวณหัวไหล่คาดเข็มขัดเส้นโต ความยาวของ คีร่า เกือบลากดิน เสื้อตัวในมักจะใช้สีเดียวกับดอกดวงที่ปรากฎบนคีรา จากนั้นสวมเสื้อคลุมเปิดอกอีกตัว ชายเสื้อคลุมนี้จะอยู่ต่ำกว่าเอวประมาณหนึ่งคืบ แล้วเอาชายเสื้อตัวในตลบขึ้นทับชายแขนเสื้อคลุมตัวนอก หากเป็นหน้าร้อนจะไม่ใส่เสื้อคลุมกัน ส่วนรองเท้าแบบดั้งเดิมะไม่ต่างจากของชายมากนัก แต่ในปัจจุบัน มีตั้งแต่รองเท้าแตะฟองน้ำ ไปจนกระทั่งรองเท้าหนังหุ้มส้นแบบสากลนิยม
ชุดกีร่าผ้าฝ้ายมีราคาประมาณ 30 ยูโร กีร่าฝ้ายทอลายไหม 500-700 ยูโร ในขณะที่กีร่าไหมทอลายไหมจะราคาสูงถึง 1,200-2,300 ยูโร ชุดโกผ้าไหมดิบราคาจะตกราว 180-200 ยูโร แต่ถ้าเป็นผ้ายาทระ ราคาจะเพิ่มเป็น 200-250 ยูโร สายรัดเอวของผู้ชายมีราคา 5 ยูโร ของผู้หญิงมีตั้งแต่ถูกสุด5 ยูโรไปจนถึง 60 ยูโร ราคาที่ต่างกันจะมีคุณภาพเป็นตัวกำหนด ร้านขายผ้าทอมือในทิมพู มีร้านเซริงโดรกายิดซินแฮนดิคราฟต์ กูร์เตแฮนดิคราฟต์ เกลซังแฮนดิคราฟต์ ดรุ๊กตรินแฮนดิคราฟต์ และร้านตามโรงแรมต่างๆ
ผ้าสะพายบ่าในงานพิธี "กับเนะ" (Kabney)
กับเนะ คือ ผ้าผืนใหญ่ที่ผู้ชายภูฏานใช้สะพายบ่าเมื่อต้องร่วมไปงานพิธี หรือเมื่อมีธุระต้องเข้าไปในป้อม (ซอง) ถือเป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคมของผู้เป็นเจ้าของ
ใคร มีธุระหรือต้องไปติดต่อสถานที่ราชการหรือเข้าวัด หรือเข้าซอง ต้องเอา กับเนะ มาพาดไหล่ซ้ายพันร่างเฉียงไปทางขวา ซึ่งมีสีแตกต่างกันออกไป อันเป็นการบ่งบอกถึงฐานะทางสังคม และฐานันดรของผู้ใช้ผ้าพาดไหล่นั้น คือ
สีเหลืองอมส้ม ใช้ สำหรับพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ และพระสังฆราช ข้าราชการชั้นสูง ทั้งหมดจะมีดาบคาดประดับ กับเนะชั้นสูงนั้น พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานให้ แต่ถ้าเป็นระดับรองๆ ลงมา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้มอบให้แทน กับเนะของราชองครักษ์ ทหารและตำรวจจะเป็นผ้าเนื้อหนา ความกว้างจะน้อยกว่ากับเนะทั่วไป
สีส้ม ใช้สำหรับรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี เป็นผ้าเย็บเก็บชายแต่จะพับชายพาดทับไว้บนบ่าซ้ายอีกชั้นหนึ่ง
สีน้ำเงิน ใช้สำหรับองคมนตรี ผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาองคมนตรี
สีแดง ใช้ สำหรับ ดาโซะ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กษัตริย์ภูฏานจะพระราชทานให้กับข้าราชบริพารที่มีความดี ความชอบ เป็นตำแหน่งเฉพาะตัว ไม่มีการสืบทอดไปสู่ทายาท เป็นผ้าผืนใหญ่เย็บเก็บชายเรียบร้อย
สีขาว ใช้ สำหรับสมาชิกรัฐสภา หรือสามัญชน สำหรับคนธรรมดา ผู้ช่วยหัวหน้าเขตปกครอง (ซงรับ, ดรุงปา) จะใช้กับเนะสีขาว ชายเป็นพู่ ตรงกลางมีริ้วสีแดงพาดลงมาตามแนวยาวหนึ่งเส้น และแนวขวางตัดกันอีกหนึ่ง สองหรือสามเส้น ส่วนหัวหน้าหมู่บ้าน (กัป) จะใช้กับเนะสีขาว ชายเป็นพู่ ขอบเป็นริ้วสีแดงสองเสนพาดลงมาตามแนวตั้ง เรียกว่า คามาร์
สีขาวลายเส้นสีแดง ใช้สำหรับหัวหน้าหมู่บ้าน
สีขาวขลิบริมสีแดง ใช้สำหรับทหาร
ส่วนการสวมถุงเท้าจะสวมยาวขึ้นมาถึงใต้เข่า สำหรับรองเท้าแบบภูฏานแท้ เหมือนบู๊ทหุ้มข้อมีลวดลายและสีสันสะดุดตา แต่ชายภูฏานทุกวันนี้ นิยมสวมรองเท้าธรรมดาทั่วไป ตลอดจนรองเท้าผ้าใบและรองเท้ากีฬา
สำหรับ ผู้หญิง หากจะต้องเข้าไปในสถานที่ราชการหรือศาสนสถาน ก็จะต้องมีผ้าพาดไหล่พันกายเช่นเดียวกับชายชาวภูฏาน แต่มีชื่อเรียกต่างกันว่า "ราชุง" (Rachung) ซึ่งผู้หญิงภูฏานทุกคนใช้ ราชุง สีแดงเข้มเหมือนกันหมด
ของฝากภูฏาน ช้อปปิ้งภูฏาน
สินค้า ของที่ระลึกภูฏานและของฝากจากภูฏาน ส่วนใหญ่จะเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านฝีมือประณีต เช่น ผ้าทอ (มีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าขนสัตว์) เครื่องจักสาน และเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน เครื่องจักสานของภูฏานทำด้วยไม้ไผ่ เหมือนเครื่องจักสานในเมืองไทย ทั้งรูปร่าง ลวดลาย การใช้สี และประโยชน์ใช้สอย ของที่ระลึกของภูฏานเป็นงานศิลปะที่มีค่าและมีความหมายมากสำหรับชาวภูฏาน และเป็นของที่ระลึกจากภูฏานที่ดีมากคือ ทังกา (ลักษณะเหมือนผ้ายันต์ มีที่แขวนทำด้วยไม้ไผ่)
ทังกา หรือ พระบฎ ในชื่อของไทย คือ ผ้าใบผืนขนาดต่างๆ ที่เขียนสี เป็นผ้าที่ทอหรือปักเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ หรือคำสอนในพุทธศาสนา ชาวภูฏานถือเป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์และเป็นของสำคัญมากในการประกอบพิธีทางศาสนา ของชาวภูฏาน มีให้เลือกซื้อที่ แฮนดิคราฟต์เอ็มโพเรียม ร้านค้าละแวกโรงเรียนช่างสิบสามหมู่ และร้านเซอกีแฮนดิคราฟ
ทังกาที่จะนำออกจากภูฏานได้จะต้องเป็นของทำเทียม หรือทำขึ้นใหม่เท่านั้น ทังกามีหลายขนาดและหลายราคา ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ ลวดลาย และฝีมือการประดิษฐ์ ทังกาที่ทำขายนั้นเป็นการทำเทียมเลียนแบบของจริง ส่วนใหญ่เป็นงานของนักเรียนนักศึกษาที่หารายได้เป็นทุนการศึกษา ที่ได้รับการสืบทอดฝีมือกันมา เป็นงานฝีมืองดงามไม่แพ้ของจริง และมีภาพหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น เครื่องทรง สมณบริขาร รวมทั้งภาพผีเสื้อนานาชนิด สัตว์ต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงในภูฏาน แม้แต่การจำลองรูปเงินตรา รวมทั้งตราไปรษษียากร ซึ่งเพิ่งใช้ในภูฏานเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา
ของฝากของภูฏานมีจุดเด่นจากเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ 2 ประการคือ
ชาวภูฏานไม่ได้ผลิตสินค้าหัตถกรรมขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อการค้าเหมือน ประเทศอื่นที่ขายการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้น สินค้าภูฏานจึงมีค่าตรงที่เป็นของชาวบ้านทำขึ้นเพียงไม่กี่ชิ้น และบางชิ้นอาจมีชิ้นเดียวในโลก
ประเพณี การซื้อขายของชาวภูฏานจะไม่มีการต่อรองราคา และคนขายไม่ได้บอกราคาไว้เผื่อต่อ ดังนั้น ราคาสินค้าจึงเป็นราคาตายตัว ใครมาซื้อขายก็ต้องซื้อขายราคาเดียวกัน หรือหากจะมีการลดราคาได้บ้างก็ลดได้ไม่เกิน 10%1 เท่านั้น
ของฝากจากภูฏานที่มีขายในตลาดภูฏาน มักเป็นของชิ้นเล็กๆ ราคาไม่แพงและไม่กินเนื้อที่ในกระเป๋าเดินทาง สินค้าที่มีราคาแพงมากคือ ทังกา ซึ่งต้องเป็นของที่ทำขึ้นใหม่เท่านั้น ไม่ใช่ของเก่าที่ห้ามนำออกนอกประเทศ ถ้าเป็นทังกาที่เขียนลวดลายสีสันสวยงาม หรือเป็นผ้าที่ทอลายสอดเส้นไหม หรือสอดเส้นโลหะทองคำ ราคาจะแพงขึ้นไปอีก ราคาเริ่มต้นที่ 20 ยูโร-500 ยูโร
ผ้าทอภูฏาน ผ้าทอเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของภูฏาน มีรูปลักษณ์คล้ายผ้าทอของลาว อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ อเมริกากลาง และเปรู เสื้อผ้าของชาวภูฏานที่ทอด้วยฝ้ายดิบย้อมสีธรรมชาติ เป็นของฝากจากภูฏานที่น่าสนใจ มีฝีมือการทอที่ทั่วโลกยกย่องชื่นชม หาซื้อได้ตามตลาดในชนบท ที่เมืองทิมพู ชาวบ้านเอามาขายที่ตลาดวีคเอ็น แต่เสื้อผ้าที่ทอด้วยเครื่องจักรเป็นสินค้าจากอินเดียและเนปาล ราคาถูก เพราะไม่ใช่ผ้าทอมือ มีทั้งโก เสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย กับคีร่า ผ้านุ่งของผู้หญิง ผ้าทอภูฏานเป็นผ้าหน้าแคบขายกันเป็นชิ้น ไม่ได้วัดเป็นเมตร (ถ้าทอด้วยไหมจะมีราคาแพงมาก) โกและคีร่าทำจากผ้าหลายชิ้น เอามาเย็บต่อๆ กันให้เป็นชิ้นใหญ่ ส่วนผ้าพาดไหล่ที่ผู้ชายภูฏานใช้สำหรับไปวัด หรือแต่งตัวไปงานที่เป็นทางการ เป็นสินค้าขายดี เพราะนักท่องเที่ยวนิยมซื้อไปใช้เป็นผ้าพันคอ
ผ้าที่ถูกที่สุดคือผ้าฝ้ายสีพื้น ในขณะที่ผ้าทอที่แพงที่สุดเป็นผ้าทอทั้งผืน ใช้เวลาทอนานหลายเดือน และต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมากในการสอดใส่เส้นไหมทอขึ้นเป็นลวดลายอัน ละเอียดประณีต บนพื้นผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมเอง ผ้าแต่ละชนิดจะทอขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ต่างกันไป บ้างทอเพื่อทำเข็มขัดหรือสายรัดเอว บ้างทอขึ้นเพื่อทำเป็นชุดประจำชาติสำหรับผู้หญิง (กีรา) ชุดประจำชาติสำหรับผู้ชาย (โก) ผ้าสะบายบ่าของผู้หญิง (ราชู) ผ้าสะพายบ่าของผู้ชาย (กับเนะ) ชุดที่ใช้ในงานพิธี (ชาซีปังเค็น) หรือถุงย่าม (เปซุงหรือบุนดี) ส่วนผ้าขนสัตว์ยาทระของบุมทังนั้น ใช้สำหรับเย็บผ้าคลุมเตียง ปลอกหมอน และเสื้อแจ็กเก็ตโดยเฉพาะ
เครื่องประดับอัญมณีและเครื่องเงิน สินค้า ของฝากเครื่องเงินที่เตะตานักท่องเที่ยวมากที่สุดคือ กล่องไม้ หรือภาชนะสำหรับใส่ของ เช่น ใส่ขวดเหล้าหรือไวน์ เป็นงานไม้ที่ประดับด้วยเงิน ตีเป็นแผ่นและตกแต่งด้วยการฝังเม็ดเงินลงไปในเนื้อไม้เป็นลวดลายต่างๆ ส่วนเครื่องเงินที่ทำเป็นของที่ระลึกอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ เชี่ยนหมาก ทำเป็นกล่องไม้สี่เหลี่ยม มีที่ใส่หมาก พลู และปูนซึ่งทำด้วยเงินแท้ ลักษณะคล้ายเชี่ยนหมากของไทย เพราะชาวภูฏานกินหมากเป็นประจำและมีธรรมเนียมในการรับแขก ด้วยการนำหมากพลูกับน้ำชามารับแขก
เครื่องประดับอัญมณีของภูฏานมีไม่มากแต่สวยสะดุดตา ทั้งเข็มกลัดเงินคู่ดุนลายและใช้โซ่ร้อยเข้าด้วยกัน ตุ้มหูทองฝังเทอร์ควอยซ์ กำไลเงินวงใหญ่แกะลายหรือฝังหินปะการังกับเทอร์ควอยซ์ เข็มขัดเงิน และสร้อยไข่มุก เครื่องประดับชนเผ่าต่างๆ เช่น แหวนปะการัง พลอยลาปิช หรือเทอร์ควอยซ์ทำเป็นหัวแหวน
ทิมพูและพาโรเป็นแหล่งที่มีเครื่องประดับและเครื่องเงินให้เลือกมากที่สุด ถ้าเป็นที่ทิมพูต้องไปที่เอ็มโพเรี่ยม ร้านนอร์ลิง และเซริงโดรกา ร้านดรุ๊กตรินแฮนดิคราฟต์ของโรงแรมวังชุก ร้านเกลซังแฮนดิคราฟต์ในห้างดรุ๊กช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ ร้านนอร์ลิงในโรงแรมดราก้อนรูตส์ ร้านอาร์ตชอปที่จัตุรัสหอนาฬิกาและร้านตาชิเยอร์บาร์ตรงหัวมุมด้านซ้ายของ ห้างดรุ๊กชอปปิ้งคอมเพล็กซ์
งานไม้แกะสลัก งาน แกะสลักด้วยไม้จากภูฏานที่เป็นที่นิยมกันมากคือ หน้ากากไม้ทาสีที่พระสวมใส่เวลาร่ายรำทำพิธีทางศาสนาในเทศกาลต่างๆ หน้ากากไม้ที่ทำเป็นของที่ระลึกมี 2 ขนาด คือ หน้ากากขนาดเล็ก กับหน้ากากขนาดใหญ่เท่าของจริง งานเครื่องไม้ที่ถือว่างามที่สุดคือ ของตกแต่งผนังกำแพง และโต๊ะเล็กๆ ที่เรียกว่า โชดม มักออกแบบให้พับเก็บได้ และมักลงสีไว้อย่างสวยงาม หน้ากากมีทั้งหน้ากากหน้ามนุษย์ หน้าสัตว์ และหน้าเทพเจ้าที่ใช้ในระบำทางศาสนา มีวางขายอยุ่ทั่วไป มีจำหน่ายที่ ร้านเชอกีแฮนดิคราฟต์ โรงเรียนช่างสิบสามหมู่ ตลาดนัดทิมพู
เครื่องจักสานจากหวายและไม้ไผ่ ถ้าเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวีตประจำวันจะมีราคาถูกที่สุด และเป็นของภูฏานแท้ที่เหมาะจะเป็นของฝากจากภูฏานที่สุดด้วย ร้านค้าบางร้านในทิมพูและที่ตลาดนัดสุดสัปดาห์ขายสินค้าจำพวกที่กรองใบชา ที่กรองสุรา หมวกทรงกล้วย กระบอกใส่ลูกธนู โตกสำหรับยกข้าวมาเสริฟ กระด้งรูปสี่เหลี่ยมสำหรับฝัดข้าวและธัญพืช กระบอกไม้ไผ่ใส่สุรา และกระบุงทรงสี่เหลี่ยมพร้อมฝาปิด
กระดาษสา หนังสือ และสิ่งของที่ทำด้วยกระดาษสา เช่น กระดาษห่อของขวัญ กระดาษและซองจดหมาย เป็นสินค้าแฮนเมดของภูฏานที่น่าสนใจมาก กระดาษที่ภูฏานเป็นกระดาษที่ทำขึ้นด้วยมือ เหมาะจะนำไปวาดภาพ คัดอักษร และใช้ห่อของขวัญ เมืองทิมพูมีโรงงานทำกระดาษ Jungzhi Handpeper อยู่ในเมือง มีการสาธิตกรรมวิธีการทำกระดาษ ตัวอย่างกระดาษประเภทต่างๆ ตลอดจนเลือกซื้อกระดาษภูฏานเป็นของฝาก และมีร้านขายหนังสือใหญ่ 4 ร้าน ในร้านขายหนังสือภาษาอังกฤษ มีทั้งหนังสือ นิตยสารและหนังสือเล่ม ร้านหนังสือที่อยู่ใกล้โรงแรมดรุก มีอยู่ 2 ร้านคือ ร้าน DBS และ ร้าน Bookworld ในร้านมีหนังสือทุกประเภท รวมทั้งหนังสือประวัติศาสตร์และหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ร้านของทางหอสมุดแห่งชาติอยู่เยื้องห้างเอ็มโพเรียมมีหนังสือแบบโบราณของ ภูฏานจำหน่าย