ข้อมูลควรรู้ก่อนท่องเที่ยวภูฎาน
เตรียมตัวก่อนเที่ยวภูฏาน ข้อมูลควรรู้ก่อนเที่ยวภูฏาน
ภูฏานเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งในอาณาจักรหิมาลัย เป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา ที่คงความเป็นเอกลักษณ์พิเศษ และด้วยความตระหนักและหวงแหนในคุณค่านี้ ภูฏานจึงวางกรอบจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งยิ่งทำให้น้อยคนนักที่จะมีโอกาสไปเยือนภูฏาน
ประเทศ ภูฏานได้เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อต้นปี ค.ศ. 1988 ซึ่งจะต้องผ่านองค์การท่องเที่ยวแห่งรัฐเพียงผู้เดียว (Tourism Authourity of Bhutan : TAB) และยังจำกัดนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิน 3,000 คนต่อปี แต่หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง The Little Buddha ได้ถ่ายทำที่ภูฏานและแพร่ภาพไปทั่วโลก ทำให้ใครก็อยากมายลโฉมแท้จริงของภูฏาน ดังนั้น ทางการภูฏานจึงต้องปรับตัวเลขนักท่องเที่ยวเป็น 5,000 คนต่อปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เป็นต้นมา
ปัจจุบันภูฏานเปิดรับนักท่องเที่ยวปีละ 20,000 คน โดยมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพื่อจะได้ไม่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาว ภูฏาน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด
โรคแพ้ความกดดันอากาศในที่สูง ความสูงโดยเฉลี่ยในเส้นทางท่องเที่ยว โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2,300 เมตร แต่ถ้าเป็นเส้นทางเดินเท้าท่องชมธรรมชาติอาจสูงได้ถึง 5,400 เมตร การเมาความสูงอาจเป็นปัญหารุนแรงสำหรับนักท่องเที่ยวบางคน ถ้าเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ไอ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร มีปัญหาปัสสาวะติดขัด ให้ลงมายังบริเวณที่ตำทันที การเมาความสูงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงต้องระมัดระวังให้มาก แต่มัคคุเทศก์นำทางก็ได้รับการฝึกอบรมทางด้านนี้มาเป็นอย่างดี เวลาขึ้นสู่ที่สูง ร่างกายจะเกิดภาวะสูญเสียน้ำ ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ ถ้าเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงก็ต้องไปปรึกษาแพทย์ให้เรียบร้อยก่อน เดินทางมายังภูฏาน ส่วนอาการนอนไม่หลับอันเนื่องมาจากการขึ้นมาอยู่บนที่สูงนั้น สามารถใช้ยานอนหลับอ่อนๆ ช่วยได้ ไม่ควรแตะต้องเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ข้อควรรู้ทัวร์ภูฏาน
- ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่ห้ามไม่ให้ซื้อและขาย สูบบุหรี่ในที่สาธารณะโดยเด็ดขาด
- ภูฏานมีหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายสัปดาห์ 1 ฉบับ และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 1 ฉบับ
- ภูฏานมีเคเบิลทีวี 2 สถานี ถ่ายทอดทำสารคดีจากซีเอ็นเอ็น และ บีบีซี รายการบันเทิงทางเอ็มทีวี และรายการกีฬาทางอีเอสพีเอ็นละครและรายการโทรทัศน์วาไรตี้จากอินเดีย มีโทรทัศน์ของรัฐ 1 แห่ง
- ตามเกณฑ์สากลที่ใช้วัดระดับ "ความเจริญ" ภูฏานเป็นหนึ่งใน 40 ประเทศยากจนที่สุดในโลก ทั้งประเทศมีทางหลวงเพียงหนึ่งเส้น ว่ากันว่ารถที่วิ่งในภูฏานนั้นต้องหักเลี้ยวทุกๆ 6 วินาที
- นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนภูฏานเพื่อแสวงหาธรรมชาติบริสุทธิ์หรือพิชิต ยอดหิมาลัย ย่อมต้องสังเกตเห็นอิทธิพลของศาสนาและวัฒนธรรมที่แยกไม่ออกจากวิถีชีวิตชาวภูฏาน เพราะธรรมชาตินั้นอยู่ท่ามกลาง และแวดล้อมหมู่บ้าน วัดวาอาราม ธงภาวนา และกงล้อภาวนาจำนวนนับไม่ถ้วน
- นักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวัฒนธรรมอันแปลกตาและแปร่งหูที่มีพุทธ วัชรยาน เป็นองค์ประกอบสำคัญ ย่อมต้องสังเกตเห็นธรรมชาติอันน่าตื่นตาตื่นใจ และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ระหว่างทางไปวัดต่างๆ ซึ่งบางวัดอยู่บนยอดเขาที่ต้องใช้เวลาและความอุตสาหะมากกว่าเส้นทางปีนเขาบางเส้น
- ชาวภูฏานมีทัศนคติที่ดีกับไทย นิยมเดินทางมาไทยเพื่อจับจ่าย รักษาตัวและศึกษาในไทยอีกทั้งมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจเช่นเดียวกับไทย
- วัดวาอารามและป้อมปราการส่วนใหญ่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าชมได้แต่ภายนอก ไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในตัวอาคาร
ซอง : เอกลักษณ์ของภูฏาน ซอง (Dzong) เป็นภาษา ซองคา แปลว่า ป้อมปราการ คือในสมัยโบราณใช้เป็นที่มั่นต่อสู้กับศัตรูที่มารุกราน แต่ "ซอง" ทุกวันนี้ กลายเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการของเขตนั้นๆ และจะใช้ชื่อเป็นชื่อเดียวกับเขต เช่น Paro Dzong-Khag ก็คือมีเมืองปาโรเป็นเมืองเอก โดย ซองคัก (Dzong-Khag) เป็นภาษาซองคา แปลว่า เขต เพราะภูฏานแยกการปกครองออกเป็นเขต ซึ่งแบ่งตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งถ้าไปเยือนเขตในในภูฏาน มักจะให้ดูซองของเขตการปกครองนั้นอยู่เสมอ
ซอง ยังเป็นวัดหลักประจำเขต ใช้ประกอบกิจการทางศาสนา ตลอดจนเป็นที่พำนักอาศัยของพระสงฆ์และสามเณร ใช้เป็นที่ทำการรัฐบาล ที่ประชุมสภา และสำนักงานราชการในระดับต่างๆ อีกทั้งยังมีโรงเรียนสงฆ์รวมอยู่ด้วย ส่วนสถานที่ที่เป็นเพียงวัดนั้น ภาษาซองคาเรียกว่า "ลาคัง" (Lahkhang) ซองทุกแห่งมีรูปแบบการก่อสร้างอันเป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะภูฏาน วัสดุทุกชิ้นที่ประกอบขึ้นมาเป็นซองนั้น มาจากจิตวิญญาณและรากเหง้าประวัติศาสตร์ของภูฏานทั้งสิ้น ดังนั้น ซอง จึงเป็นทั้งเอกลัษณ์และเป็นหัวใจของชาวภูฏานมาโดยตลอด
บรรพบุรุษชาวภูฏานสร้างซองขึ้นมาเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่เหนือศัตรู อีกทั้งยังแสดงถึงความเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจในแต่ละยุค นอกเหนือจากการใช้เป็นป้อมปราการทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ในยุคที่แว่นแคว้นต่างๆ มีการรบพุ่งช่วงชิงอาณาจักรกันและกัน
รูปร่างอาคารและหลังคาของซองในภูฏาน เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากทิเบตและจีน มีลักษณะผสมผสานระหว่างวัด วัง อาคารโบราณ ซึ่งเป็นแหล่งใช้สอยและแหล่งสั่งสมวัฒนธรรมมายาวนาน ซองบางแห่งถูกก่อสร้างตามเชิงชั้นไหล่เขา
การสร้างซองเริ่มเกิดขึ้นในต้นคริสศตวรรษที่ 12 โดยผู้ตั้งตัวเป็นผู้ปกครองแว่นแคว้น จนมาถึงศตวรรษที่ 17 ท่าน นาวัง นัมเกล เป็นสังฆราชา ซอง หรือ ป้อมปราการ หรือ อารามขนาดใหญ่ เกิดขึ้นหลายแห่ง ทั้งเพื่อผลทางยุทธศาสตร์และทางการปกครอง ซอง จึงเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจและศูนย์กลางการปกครองและกลายเป็นต้นแบบ สถาปัตยกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวภูฏานมาจนถึงทุกวันนี้
ซอง ประกอบด้วย อาคารของอาคาร ก่อด้วยอิฐ ฉาบด้วยดิน หลังคาเป็นเชิงชั้น ตัวอาคารประกอบด้วยโครงไม้แกะสลัก พื้นอาคารปูด้วยแผ่นศิลา มีวิหาร ห้องพระ ห้องปฏิบัติธรรม สำนักงานข้าราชการ ที่พักสงฆ์ อาคารสถานศึกษา อยู่กันเป็นสัดส่วน รอบตัวอาคารตกแต่งสลักเสลาล้วนมีความหมายหรือเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น
ซิมโตคาซอง (Simtokha Dzong) ในเมืองทิมพู เป็นซองแห่งแรกในประเทศภูฏาน ที่ซับดรุง นาวัง นัมเกล สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1629 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์วังชุก (พระเจ้าจิกมี ดอร์จิ วังชุก) โปรดให้ดัดแปลงซิมโตคาซองแห่งนี้ เป็นวิทยาลัยครูแห่งแรกในภูฏาน ซองบางแห่งไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมภายใน
ธนบัตรของภูฏาน ด้านหนึ่งมีซองปรากฎอยู่ด้านหลังของธนบัตร และอีกด้านหนึ่งเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ในองค์ต่างๆ แห่งราชวงศ์วังชุก
ข้อธรรมเนียมปฏิบัติของชาวภูฏาน
ข้อธรรมเนียมปฏิบัติของชาวภูฏาน
การแสดงความเคารพยกย่อง ชาวภูฏานมีสำนึกในเรื่องลำดับชั้น และการให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสหรือผู้ที่มีศักดิ์ฐานะสูงกว่าไม่ต่างชาติชน ชาติอื่นๆ ในเอเชีย ยิ่งถ้าเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนาก็ยิ่งให้ความเคารพและนอบน้อมยำเกรงเป็นพิเศษ โดยมีวิธีแสดงออกหลายวิธีด้วยกัน กล่าวคือ ถ้ายืนอยู่ก็ต้องยืนค้อมตัวลงเล็กน้อย ถ้าอยูใน ท่านั่งก็ต้องนั่งขาตรงชิดติดกับเก้าอี้ และจะต้องใช้ผ้าสะพายบ่าคลุมหัวเข่าเอาไว้ เวลาพูดต้องเอามือป้องปากไว้จะได้ไม่ทำให้อากาศที่ฝ่ายสูดหายใจเข้าไปสกปรก เปรอะเปื้อน และห้ามสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เมื่อจะจบประโยคต้องจบด้วยคำว่า "ลา" เพื่อแสดงความเคารพ (ไม่เว้นแม้กระทั่งประโยคภาษาอังกฤษ)
ชาวภูฏานจะกราบพระอริยบุคคลสามครั้ง เช่นเดียวกับที่กราบพระพุทธรูป เวลาไปเที่ยววัดควรบริจาคเงินเล็กๆ น้อยๆ ทำบุญกับทางวัดบ้าง ห้ามพูดเสียงดัง และต้องถอดรองเท้าออกเพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ ร่มและหมวกเป็นของต้องห้ามทั้งในวัดและซอง
ชาวภูฏานถือว่าศีรษะเป็นของสูง ในขณะที่เท้าเป็นของต่ำ จึงห้ามไปแตะหรือตบศีรษะใครเข้าเป็นอันขาด และห้ามเหยียดหรือยื่นเท้าออกไปข้างหน้าด้วย เวลานั่งกับพื้นต้องนั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ ถ้านั่งบนเก้าอี้ก็ห้ามนั่งไขว่ห้างหรือนั่งเอาขาไขว้กันอย่างเด็ดขาด
เจ้าบ้านกับแขกเหรื่อ การต้อนรับแขกเหรื่อของชาวภูฏาน หากไม่ยกน้ำชาหรือสุรามาให้ถือว่าเป็นการแสดงความหยาบคายอย่างยิ่ง ถ้าเป็นบ้านส่วนตัว ผู้เป็นแขกควรดื่ม (หรือแค่จิบ) เครื่องดื่มที่เจ้าของบ้านยกมาให้อย่างน้อยสองถ้วย แต่ไม่ควรรีบตกปากรับคำในทันทีที่เจ้าของบ้านเอ่ยถามว่า จะดื่มอะไรไหม ถ้าได้เป็นแขกรับเชิญให้ไปกินข้าวที่บ้านของชาวภูฏาน เจ้าบ้านจะยกเครื่องดื่มกับของว่างนานาชนิดมาให้รองท้องก่อนจะถึงมื้ออาหาร จริงๆ ซึ่งอาจจะยื่ดเยื้อนานกว่าหนึ่งชั่วโมง ถ้าเป็นครอบครัวคนธรรมดาที่แขกไม่สนิทสนมคุ้นเคยด้วยนัก มีโอกาสที่เจ้าของบ้านจะไม่มานั่งคุยกับแขก จนกว่าจะถึงเวลายกอาหารมาเสริฟ และระหว่างกินอาหารไม่จำเป็นต้องมีเรื่องสนทนากัน เพราะการกินเป็นเรื่องจริงจังสำหรับชาวภูฏาน ไม่ควรหาหัวข้ออื่นมาหันเหความสนใจ ถ้าจะคุยต้องคุยให้เสร็จก่อนเริ่มลงมือกินอาหารและเมื่อกินเสร็จ แขกไม่ควรนั่งคุยเรื่องสัพเพเหระ กับเจ้าบ้าน แต่จะรีบกลับบ้านไปในทันที่ทีการอาหารจบลง กฎข้อนี้ใช้กับงานเลี้ยงของทางการด้วย
การไปร่วมงานพิธี ธรรมเนียมที่เป็นทางการและสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของภูฏานคือ ชาวภูฏานทั้งหญิงและชายจะต้องห่มผ้ากับเนะ งานพิธีทางการที่พบได้บ่อยที่สุดในภูฏานมีอยู่สองงานคือ พิธีประสาทพรให้เจริญรุ่งเรืองหรือให้บังเกิดความอุดมสมบูรณ์ เรียกว่า พิธีซุกเดรล โดยมีพระลามะเป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนงานที่สองคือพิธีบวงสรวงบูชาท้าวมหากาฬ (เทพผู้ปกปักรักษาประเทศภูฏาน) เรียกว่า พิธีมาชัง ซึ่งผู้ประกอบพิธีจะเอาสุราที่หมักขึ้นในท้องถิ่น (เรียกว่า ชัง) เทใส่ในถ้วยที่ใช้เนยปั้นเป็นรูปเขาสัตว์สี่อัน ประดับไว้ตามขอบ นำไปตั้งไว้บนแท่นบูชาสามขา ใช้ทัพพีตักสุราขึ้นมาชูขึ้นเหนือศีรษะ แล้วท่องมนก่อนเทสุราในทัพพีลงพื้นพอเป็นพิธี เสร็จแล้วจึงจะต้องธงมนต์ขึ้นเป็นขั้นตอนสุดท้าย
การเลื่อนตำแหน่ง ในการเลื่อนตำแหน่งหรือฐานะทางสังคมของชาวภูฏาน ผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจะนิมนต์พระมาทำพิธีประสาทพรให้ที่บ้านเช่น เดียวกับงานแต่งงาน โดยจะนั่งอยู่บนที่สูง และรับของขวัญพร้อมผ้ากาตาสีขาว จากแขกเหรือที่มาแสดงความยินดี
การเกิด การถือกำเนิดของบุตรหลานชาวภูฏานไม่ว่าหญิงหรือชายล้วนเป็นเรื่องน่ายินดี ช่วงสามวันแรกหลังคลอดผู้เป็นมารดาจะไม่พบใครนอกจากคนในครอบครัว ต้องรอจนถึงวันทำพิธีฮาซัง (พิธีอาบน้ำ) ผ่านพ้นไปก่อน แขกเหรื่อจึงจะมาเยี่ยมเยือนแสดงความยินดีได้ ตามหมู่บ้านในชนบทญาติมิตรจะนำไข่ ข้าว หรือข้าวโพดมามอบให้เป็นของขวัญ แต่ในเมืองจะนิยมนำเสื้อผ้าเด็กหรือผ้าอ้อมมามอบให้มากกว่า นอกจากนี้ยังต้องมอบเงินก้นถุงเล็กๆ น้อยๆ ให้กับทารกเพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต แม่จะต้องกินอาหารดีๆ และเครื่องดื่มที่ทำจากสุรา อาระผสมกับเนยและไข่ เพื่อจะได้มีน้ำนมมากๆ เครื่องดื่มดังกล่าวเจ้าของบ้านมักนำออกมาเลี้ยงแขกเหรื่อด้วย
การตั้งชื่อเด็ก พ่อแม่ะตั้งชื่อให้ลูกเอง แต่จะรอให้พระหรือลามะผู้เป็นโหราจารย์ที่ตนเคารพนับถือตั้งให้พร้อมกับทำ การผูกดวง โดยจดวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟาก และพิธีต่างๆ ที่จะต้องทำในแต่ละปีหรือในกรณีที่ดวงตกเอาไว้ให้ ปัจจุบันพ่อแม่จะต้องไปแจ้งเกิดกับทางการด้วย
การแต่งงาน ช่วงวัยหนุ่มสาวของชาวภูฏานจะไม่มีงานพิธีใดๆ เป็นพิเศษจนกว่าจะถึงกำหนดแต่งงาน การแต่งงานในภูฏานอาจเป็นงานใหญ่มีพิธีรีตองต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย หรืออาจไม่มีการจัดพิธีใดๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคมของครอบครัวและขึ้นอยู่กับว่าคู่บ่าวสาว รู้จักกันด้วยวิธีใด กล่าวคือ อาจเป็นการแต่งงานกันด้วยความรักชอบพอหรือเป็นการแต่งงานตามความต้องการของ ผู้ใหญ่ ซึ่งพ่อแม่จะถามความสมัครใจของลูกว่าจะยอมแต่งหรือไม่ โดยปกติแล้ว จะไม่ใช่เป็นการมาเจอหน้ากันครั้งแรกในวันแต่ง และถ้าลูกไม่สมัครใจก็สามามรถบอกปฏิเสธได้ ส่วนการแต่งงานจากการรักชอบพอกันเองนั้น ความเห็นชอบของพ่อแม่ยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ ถ้าครอบครัวของคู่บ่าวสาวมีฐานะดี การแต่งงานก็ต้องจัดเป็นงานใหญ่ มีญาติมิตรมาร่วมงานมากมาย เมื่อถึงฤกษ์ดีที่โหราจารย์ให้มา เจ้าบ่าวกับเพื่อนจะยกขบวนไปรับเจ้าสาวจากบ้านของฝ่ายหญิง และพากลับมายังบ้านของตน ที่หน้าบ้านจะมีสมาชิกในครอบครัวสองคนถือชามใส่นมและน้ำเป็นสัญลักษณ์แทน ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตของคู่สมรส
เสร็จจากพิธีมาชัง คู่บ่าวสาวจะออกไปนั่งฟังพระสวด แต่พิธีสงฆ์ของทางพุทธก็ไม่ได้มีน้ำหนักหรือความศักดิ์สิทธิ์เท่าพิธีทาง ศาสนาของพวกคริสเตียนหรือฮินดู จากนั้นคู่บ่าวสาวจะดื่มสุราประกาศความเป็นสามีภรรยากัน ญาติมิตร จะนำกับเนะสีขาวมาคล้องและนำของขวัญมามอบให้ ส่วนใหญ่เป็นผ้าจำนวนสาม ห้า หรือเจ็ดผืน มีการกินเลี้ยง ดื่มสุราและเต้นรำกันอย่างสนุกสนานจนถึงค่ำ ถ้าเป็นครอบครัวคู่บ่าวสาวที่มีฐานะไม่ดี หนุ่มสาวจะย้ายมาอยู่ด้วยกันเฉยๆ ปัจจุบัน ทางการภูฏานส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตามชนบทจะไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากนัก
ในภูฏาน การหย่าร้างถือเป็นเรื่องธรรมดามาแต่ครั้งโบราณ ถ้าภรรยาเป็นฝ่ายเรียกร้องต้องการหย่าขาด ชายคนใหม่ของเธอจะต้องจ่ายค่าปรับให้กับสามีเก่า ปัจจุบัน กฎหมายยังกำหนดว่าอีกฝ่ายจะต้องแบ่งรายได้หรือเงินเดือนร้อยละ 25 ให้กับคู่ชีวิต
พิธีศพ งานศพเป็นพิธีที่สำคัญที่สุดในภูฏาน นับเป็นพิธีที่แพงที่สุดสำหรับชาวภูฏาน ความตายไม่ใช่เป็นการสิ้นสุด แต่เป็นการผ่านไปสู่ชีวิตใหม่ พวกเขาจึงต้องทำทุกอย่างให้ขั้นตอนนี้ของชีวิตเป็นไปในทางที่ดีที่สุด เมื่อมีคนใกล้ ญาติจะรีบไปนิมนต์พระ ลามะ หรือ กมเซ็น (พระบ้าน) มาประกอบพิธีเพื่อช่วยปลดปล่อยดวงจิตออกจากร่างและอ่านภัมคีร์มรณะ เพื่อชี้นำวิญญาณให้ก้าวผ่านนิมิตและขั้นตอนต่างๆ ไปด้วยดี ดินแดนที่อยู่ระหว่างความตายและการไปเกิดใหม่เรียกว่า บาร์โด
พิธีศพในภูฏานค่อนข้างสลับซับซ้อน และถ้าเป็นคนมีฐานะดีจะดำเนินงานพิธีติดต่อกันไปโดยมีหยุดนานถึง 49 วัน แต่่ส่วนใหญ่แล้วจะจัดติดต่อกันแค่เจ็ดวัน แล้วมาทำพิธีเพิ่มในวันที่ 14, 21 และ 49 แทน พิธีช่วงวันที่ 21-49 จะจัดขึ้นที่วัดไม่ใช่ที่บ้าน หลัง 49 วันผ่านพ้นไป จึงถึงคราวของการทำพิธีชำระความเศร้าหมองและพิธีนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ ผู้ที่ยังอยู่เบื้องหลังซึ่งจะกระทำกันที่บ้านของผู้ตาย
ทันที่ที่มีการเสียชีวิตลง ศพของผู้ตายจะถูกจัดให้อยู่ในท่านั่งบนที่ตั้งศพที่ใช้ผ้าหลากสีคลุมไว้ โดยปกติแล้วจะตั้งศพไว้นอกบ้าน แขกเหรือที่มาแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ตายจะนำเงินและแถบผ้ายาวสีขาวมา คลุมที่ตั้งศพเป็นการแสดงความคารวะ ครอบครัวจะต้องนำอาหารมาเซ่นผู้ตายทุกมื้อและทุกวันจนกว่าพิธีต่างๆ จะเสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์
พิธีฌาปนกิจจะทำตามฤกษ์ที่โหราจารย์กำหนดให้ แต่ต้องหลังวันตายอย่างน้อยสามวัน ถ้าผู้ตายเป็นพระ ลามะ หรือผู้มีอันจะกิน เชิงตะกอนสำหรับเผาศพจะใช้ดินเหนียวก่อขึ้นเป็นพิเศษ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็แค่ห่อผ้าตราสังข์นำขึ้นวางบนกองฟืนแล้วเผาได้เลย ทันทีที่จุดไฟ ญาติมิตรจะโยนแถบผ้าสีขาวกับเงินเข้ากองไฟพร้อมสวดมนต์ขอให้ผู้ตายได้ไปเกิด ใหม่ในชาติภพที่ดี จากนั้นครอบครัวจะต้องประกอบพิธีในวันครบรอบวันตายติดต่อกันสามปี โดยในปีที่สามจะเป็นพิธีใหญ่และถือเป็นที่สิ้นสุดของพิธีศพอย่างแท้จริง
หลังพิธีฌาปนกิจ ลูกหลานมักนำเถ้าอัฐิไปลอยอังคารหรือนำไปผสมกับดินเหนียวทำเป็นป้ายบูชา จากนั้น ทางครอบครัวจะทำธงมนต์และสร้างเจดีย์เป็นการสร้างกุศลให้กับผู้ตาย แต่จะทำได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาและฐานะทางการเงินของครอบครัว ถ้าผู้ตายเป็นเด็ก ครอบครัวจะนำศพไปทิ้งให้แร้งกากินหรือไม่ก็นำไปทิ้งน้ำแทนการเผา