พรมแคชเมียร์

 

พรมแคชเมียร์ 

นักออกแบบพรมท่านหนึ่งกล่าวว่าในความวิจิตรของลวดลายและฝีมือการทอพรมเปอร์เชียถือเป็นหนึ่งในโลก ส่วนอันดับสองคือพรมแคชเมียร์ และเมื่อกล่าวถึงสายการสืบทอดศิลปะการทอพรมแล้ว แคชเมียร์ ก็คือศิษย์สายตรงของเปอร์เชียนั่นเอง 

การผลิตพรมแม้เรียกโดยทั่วไปว่า การทอ แต่พรมแคชเมียร์นั้นทอผืนพรมและสร้างลวดลายด้วยการมัดด้ายสีเข้ากับเส้นยืน ซึ่งเป็นเทคนิคที่สืบทอดมาจากเปอร์เชียในสมัยสุลต่านเซน-อุล-อะบาดิน ราวศตวรรษที่ 15 ศิลปะการทอพรมในเปอร์เชียนั้นหลากหลาย จากพรมขนสัตว์สไตล์พื้นเมืองที่ทอกันในหมู่ชนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนเขตฮัมดาน และชีราซ จนถึงพรมราชสำนักลวดลายวิจิตร จากเขตอิสฟาฮาน กาชาน และซารูก ส่วนศิลปะการทอที่แคชเมียร์สืบทอดมานั้นเป็นสไตล์ราชสำนัก 

ในช่วงแรกที่สุลต่านเซน-อุล-อะบาดิน นำเทคนิคการทอพรมเข้ามาเผยแพร่ได้มีการ เชิญนายช่างจากราชสำนักเปอร์เชียเข้ามาก่อตั้งโรงทอที่เรียกกันว่า karkhana ในลักษณะของเวิร์กช็อปรวมไว้ด้วยนายช่างนักออกแบบและช่างทอที่เรียนรู้และทำงาน ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเมื่อสิ้นสมัยสุลต่านเซน-อุล-อะบาดิน การทอพรมในแคชเมียร์ขาดช่วงไป กระทั่งมีการฟื้นฟูอีกครั้งในช่วง ต้นศตวรรษที่ 17 เมื่อบัณฑิตอักคุน มุลลา ราห์นูมา ซึ่งระหว่างเดินทางกลับจากการแสวงบุญที่เมกกะได้แวะเปอร์เชียเพื่อเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ และนำกลับมาเผยแพร่ทั้งได้รับการสนับสนุนจากชาห์จาหันเกียร์ กษัตริย์ โมกุลในสมัยนั้น จึงเกิดโรงทอขึ้นเป็นจำนวน มาก 

ในปี 1857 เมื่อพรมแคชเมียร์สองผืน จากราชสำนักโมกุลถูกนำไปแสดงในงาน นิทรรศการที่คริสตัล พาเลซ กรุงลอนดอน ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ชาวตะวันตก และมีบริษัทจากยุโรปเข้ามาเปิดโรงทอ อาทิ Mitchell and Co., East India Carpet Company และ C.M.Hadow and Co. 

ลวดลายของพรมแคชเมียร์ที่นิยมทอกันมาถึงทุกวันนี้ แบ่งกว้างๆ ได้เป็น 3 แบบ คือลายดอกไม้ ภาพทิวทัศน์และการล่าสัตว์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาพเขียนโมกุล และสัญลักษณ์ในศาสนาอิสลาม ซึ่งแบบหลังนี้นิยมใช้แขวนผนังมากกว่าปูพื้น 

ในอดีตด้ายสีที่ใช้มัดเพื่อสร้างลวดลาย มีทั้งด้ายขนสัตว์และไหม แต่ทุกวันนี้เนื่อง จากขาดแคลนด้ายขนสัตว์ การทอจึงหันมาใช้ไหมหรือไหมผสมขนสัตว์เป็นหลัก ส่วนสีย้อมนั้นในอดีตโรงทอต่างๆ จะย้อมเองด้วยสีธรรมชาติ เช่น ขมิ้น แซฟฟรอน หญ้าคาซา เปลือกทับทิม ฯลฯ แต่นับจากการเข้ามาเปิด โรงทอโดยชาวต่างชาติ ในช่วงทศวรรษ 1860 และมีการนำเข้าไหมย้อมสำเร็จ ทำให้การย้อมสีธรรมชาติค่อยๆ หมดไป ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เช่นที่ E. Gans Roedin นักวิจัยด้านพรมตั้งข้อสังเกตว่าสีสันของขนพรมโบราณนั้นวิบวับดูมีชีวิตชีวาที่หาไม่ได้ในพรมรุ่นใหม่ที่ทอจากด้ายย้อมสีเคมี 

ชื่อเสียงของพรมแคชเมียร์นั้นอยู่ที่ความละเอียดวิจิตรของลวดลาย ซึ่งเกิดจาก การบรรจงมัดด้ายสีต่างเฉด ในอดีตมาตรฐานการทอมีความละเอียดของมัดด้าย ระหว่าง 18 x 18 (254) ถึง 36 x 36 (1,296) มัดต่อตารางนิ้ว ดังมีบันทึกว่าเคยมีการสั่งทอพรมขนาดเล็กด้วยความละเอียดถึง 60 x 60 (3,600) มัดต่อตารางนิ้ว แต่ในปัจจุบันมาตรการทอจะอยู่ระหว่าง 16 x 16 ถึง 20 x 20 เช่นที่ปาเวซ อามีน ชาห์ นายช่างนักออกแบบเล่าว่า 

"ผมออกแบบลายที่ละเอียด 36 X 36 มัด ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1991 ทุกวันนี้ถ้าออกแบบที่ละเอียดมากๆ ก็ไม่มีใครอยากทอแค่ 24 x 24 ก็หาช่างทอยากเต็มที เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยงรับงาน" 

ความเสี่ยงที่เขาหมายถึงนั้นคือการลงแรงเป็นปีที่ต้องสูญเปล่า เนื่องจากพรมหนึ่งผืนต้องใช้เวลาทอเป็นเดือนหรือปี ขึ้นกับขนาดโดยพรมแต่ละขนาดจะใช้ช่างทอนั่งทอพร้อมกันต่างกันไป เช่น ขนาด 3 x 5 ฟุต ใช้ช่างหนึ่งคนขนาด 4 x 6 ฟุตใช้ 2 คน และขนาด 6 x 9 ฟุตใช้ 3 คน ซึ่งพรมขนาด 6 x 9 ฟุต ความละเอียด 16 x 16 มัด ปกติ ใช้เวลาทอราว 6 เดือน หากละเอียดถึง 36 x 36 อาจหมายถึงปีครึ่ง หากเกิดความผิดพลาดในลวดลายจุดใดจุดหนึ่งก็หมายถึง แรงงานกว่าปีที่สูญเปล่า งานออกแบบพรมแคชเมียร์นั้นถือเป็นภูมิปัญญาและศิลปะอยู่ในตัวเอง โดยนายช่างนักออกแบบจะร่างแบบ ด้วยการจัดองค์ประกอบลายแล้วดราฟต์ลายนั้นลงกระดาษกราฟเพื่อใช้กำหนดสี จากนั้น จึงถอดลายขึ้นเป็นรหัสสีเขียนลงในแถบกระดาษที่เรียกว่าทาลิม (talim) ซึ่งเป็นเทคนิคการเขียนรหัสสีที่มีต้นกำเนิดจากการ ทอผ้าคลุมไหล่ด้วยเทคนิคกานี (kani) รหัสสีที่ว่านี้เป็นสัญลักษณ์เฉพาะที่รู้กันในหมู่ช่างทอที่จะบอกถึงเฉดสีและจำนวนมัด เช่น วงกลมใส่หมวกหงายคือสีเขียว วงกลมหมวก คว่ำสีชมพู หากมีขีดข้างใต้คือ สีเหลือง เป็นต้น 

การเขียนทาลิมถือเป็นภูมิปัญญาของการเขียนแบบและกำหนดสีในพื้นที่เล็กๆ ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามา ใช้ในการออกแบบพรม แต่กลับพบว่าเกิดความคลาดเคลื่อนในเรื่องสีและลายมากกว่า การเขียนด้วยทาลิมแบบดั้งเดิม 

หากมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโรงทอพรมในแคชเมียร์ จะพบว่าทาลิมนี้นอกจาก จะเป็นพิมพ์เขียวของพรมลวดลายวิจิตร ยังเป็นเสมือนกระดาษโน้ตกำหนดท่วงทำนอง ที่จะดังขึ้นเป็นครั้งคราว เพราะในการทอพรม ขนาดที่ต้องใช้ช่างทอสองคนขึ้นไป เมื่อจะขึ้นแถวใหม่นายช่างใหญ่จะเป็นผู้ขานสีจากแผ่นทาลิม เช่นว่าแดงสอง ขาวสี่ เขียวสอง ฟ้าสาม... ช่างทอที่เหลือก็จะมัดและตัดด้ายสี หมายจุดตามไปพร้อมกับขานรับเป็นจังหวะ จนเมื่อครบแถวจึงกลับมามัดด้ายที่เหลือในจุดที่เว้นไว้ แล้วจึงไล่ตีมัดด้ายให้แน่นเสมอกันด้วยหวีทำจากไม้หรือโลหะ 

แม้ว่าชื่อเสียงของพรมแคชเมียร์จะโด่งดังไปทั่วโลก และพรมผืนวิจิตรฝีมือช่างพื้นถิ่นเหล่านี้จะไปปูลาดอยู่ตามโถงพระราชวังและคฤหาสน์ของมหาเศรษฐี แต่จากอดีตจนถึงปัจจุบันงานทอพรมกลับถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย และค่าแรงนั้น ก็น้อยจนน่าสะท้อนใจ จากชั่วโมงการทำงาน ที่คนโบราณนับกันว่า "หลังละหมาดก่อนรุ่งจนถึงยามที่ต้องตามตะเกียง" หรือราวแปดโมงเช้าถึงหนึ่งทุ่มในปัจจุบัน ช่างทอส่วนใหญ่ จะได้ค่าแรงระหว่าง 100-120 รูปี หรือราว 90-100 บาท 

ในช่วงทศวรรษ 1980 ตลาดพรมแคชเมียร์บูมขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อันเป็นผลพวงจากการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเองและชาวต่างชาติ เพื่อมาชมความงามของหุบเขาที่ได้ชื่อว่าสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หรือสวรรค์บนดินแห่งหิมาลัย ยังผลให้นักลงทุนที่เห็นช่องโอกาสเข้ามาเปิดกิจการโรงทอและธุรกิจขาย พรมเพื่อหวังตักตวงเม็ดเงินในช่วงน้ำขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ขาดทั้งใจและความรู้ในศิลปะงานฝีมือเก่าแก่แขนงนี้ 

นายช่างปาเวซเล่าถึงการบูมของตลาดในช่วงนั้น ว่าแม้จะทำให้เกิดโรงทอใหม่ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลดีในแง่การ กระจายรายได้ แต่การเร่งผลิตที่เน้นปริมาณ กลับส่งผลเสียคือมีการใช้วัสดุด้อยคุณภาพ ลดทอนความละเอียดของงานทั้งลวดลายและจำนวนเฉดสี เน้นการลอกแบบพรมโบราณมากกว่าคิดค้นองค์ประกอบหรือลวดลายใหม่ๆ และมีการกระจายงานไปตามโรงทอต่างๆ อย่างพรมลายหนึ่งอาจมีการสั่งทอ 3-4 ผืนเมื่อกระจายไปทอในโรงทอต่างที่ ทำให้ยากแก่การควบคุมความ ถูกต้องของแบบและคุณภาพ ช่างทอที่อยาก เร่งงานก็อาจแอบลดจำนวนเฉดสี เช่นกลีบดอกไม้ที่ควรมีเส้นตัดหรือเล่นเฉดให้เกิดมิติ ก็แอบทอเป็นเฉดสีเดียว ผลในระยะยาวคือจำนวนสีที่ใช้ในพรมแคชเมียร์ ซึ่งเดิมมี 20-22 สี ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 16 สี 

สถานการณ์ดังกล่าวถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในปี 1989 และเรื้อรังมากว่า 17 ปีทำให้การท่องเที่ยวแคชเมียร์ทรุดลงอย่าง หนัก ตลาดพรมก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย จากที่เคยมีลูกค้ามาดูและสั่งงานถึงหน้า โรงทอ ทุกวันนี้ช่างทอแคชเมียร์ต้องพึ่งบรรดา พ่อค้าคนกลางที่เปิดร้านอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ เป็นหลัก ทำให้โรงทอหลายแห่งปิดตัวลง 

ความเห็นของนักออกแบบที่มีชีวิตอยู่กับการสร้างสรรค์พรมผืนงามมาร่วม 40 ปี นายช่างปาเวซเห็นว่างานด้อยคุณภาพในช่วง ที่ตลาดบูมสร้างความด่างพร้อยแก่ชื่อเสียงของพรมแคชเมียร์ และส่งผลเสียในระยะยาว แก่ศิลปะการทอพรมเสียยิ่งกว่าปัญหาทางการเมือง เพราะทำให้ไม่มีคนรุ่นใหม่อยากก้าวเข้ามาและคนเก่าแก่ที่อยู่ในวงการก็ไม่มี กำลังสร้างงานที่ท้าทายทั้งแรงกายและแรงใจ ในยามที่ตลาดซบเซาอีกต่อไป
 

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ