ข้อมูลเที่ยวศรีลังกา : เทศกาลวันวิสาขบูชาในประเทศศรีลังกา

เทศกาลวันวิสาขบูชาในประเทศศรีลังกา
     
     สำหรับพุทธศาสนิกชนนั้น คงจะเป็นที่ทราบกันดีว่า วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งมักจะอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของปีนั้น เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการอุบัติขึ้นของพุทธศาสนา เพราะวันนี้เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ถือประสูติจากพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา ต่อมาอีก 35 ปีให้หลัง นักพรตสิทธัตถะก็ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้เทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ จนกระทั่งพระชนมายุ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันเดียวกันนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า วันนี้เป็นวันแทนเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับองค์พระบรมศาสดาแห่งพุทธศาสนา เพื่อที่จะให้เกิดความระลึกถึงความหมายที่แฝงอยู่ในโอกาสอันอัศจรรย์นี้ พุทธศาสนิกชนจึงได้จัดเทศกาลเนื่องในวันดังกล่าวขึ้นมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว และเมื่อพุทธศาสนาได้รับการเผยแผ่ไปยังดินแดนต่างๆ ที่มีประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชมพูทวีป ก็ได้เกิดการปรับรูปแบบของเทศกาลวันวิสาขบูชาให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อที่พุทธศาสนาจะได้สามารถประดิษฐานในที่ดังกล่าวได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย 
ศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาและได้ประกาศรับรองให้เป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ มีประเพณีการจัดเทศกาลวันวิสาขบูชาที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองเช่นกัน ซึ่งเรียกกันในภาษาสิงหล (ภาษาที่คนส่วนใหญ่ในประเทศใช้สื่อสารกัน) ว่า เวสัก โปย่า (Wesak Poya) โดยคำว่า “เวสัก” ก็คือ วันวิสาขะบูชา นั้นเองในขณะที่ “โปย่า” นั้นเป็นคำที่ใช้เรียกวันหยุดราชการใดๆตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง ลักษณะเฉพาะดังกล่าวเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2,000 ปีของดินแดนแห่งนี้ กล่าวอีกอย่างก็คือ ลักษณะเหล่านี้เกิดขึ้นจากอิทธิพลของเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์ศรีลังกานั้นเอง การจัดงานเทศกาลวันวิสาขบูชาของศรีลังกานั้นมีมาเนิ่นนานแล้ว โดยอาจจะมีขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกับระยะเวลาหลังจากที่พระมหินท์ ซึ่งเป็นพระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในดินแดนแห่งนี้เลยก็ว่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม การจัดเฉลิมฉลองประเพณีนี้เริ่มมีปรากฏชัดเจนจริงๆหลังจากนั้น คือ ในสมัยพระเจ้าทุตถคามนี (Dutthagamini) ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ. 382 – 406 ได้ทรงโปรดให้มีการจัดเทศกาลนี้ขึ้นประจำทุกปีตลอดรัชสมัยของพระองค์

      บรรดากษัตริย์ศรีลังกาให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการที่กษัตริย์องค์ต่อมาบางพระองค์ เช่น พระเจ้าภติกาภัย (ฺBhatikabhaya - พ.ศ. 523 – 552) ได้จัดงานวันวิสาขบูชาอย่างใหญ่โตและเอิกเกริก นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มกิจกรรมที่เป็นการกุศลเข้ามาอย่างชัดเจนด้วยในยุคต่อมา กล่าวคือ ได้มีการถวายจีวรให้กับคณะสงฆ์ ในรัชกาลของพระเจ้าโวหาริกติสสะ (Voharikatissa - พ.ศ. 757 – 779) และพระเจ้าโคถาภัย (Gothabhaya - พ.ศ. 792 – 805) ซึ่งได้รับการสานต่อโดยกษัตริย์ในสมัยต่อมาอีกเช่นกัน โดยที่โดดเด่นที่สุดก็คือ พระเจ้าเสนาที่ 2 (Sena II - พ.ศ. 1390 – 1425) ซึ่งได้ทรงเริ่มต้นประเพณีให้ทานแก่ผู้ยากไร้ การจัดเทศกาลวันวิสาขบูชานั้นดำเนินมาเรื่อยจนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 22 ก็ต้องพบกับจุดเปลี่ยน เนื่องจากมหาอำนาจตะวันตกได้เริ่มทยอยกันเข้ามาครอบครองศรีลังกา โดยเริ่มต้นจากโปรตุเกสในต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ดัทช์ในพุทธศตวรรษที่ 23 และอังกฤษในพุทธศตวรรษที่ 24 ในช่วงนี้ ประเพณีทางพุทธศาสนาหลายอย่างถูกรัฐบาลอาณานิคมสั่งยกเลิก เทศกาลวันวิสาขบูชา รวมทั้งวันหยุดในวันดังกล่าว ก็พลอยถูกยกเลิกไปด้วย โดยยกเลิกอย่างเป็นทางการในปี 2313 นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนยังถูกลิดรอนสิทธิหลายประการทั้งในด้านการประกอบกิจกรรมทางศาสนาและในด้านเศรษฐกิจ โดยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะได้รับอย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาที่รัฐบาลอาณานิคมสนับสนุนในขณะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่นโยบายสนับสนุนศาสนาคริสต์ดังกล่าวของรัฐบาลอาณานิคมจะส่งผลให้ชาวพุทธจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆอย่างครบถ้วน ภายใต้สภาพเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดมีความพยายามที่จะฟื้นฟูประเพณีทางพุทธศาสนาขึ้นมา (Buddhist Revivalist Movements) เพื่อกอบกู้ศักดิศรีของพุทธศาสนา โดยในกระบวนการฟื้นฟูดังกล่าวนั้น ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการนำเอาประเพณีพุทธดั้งเดิมแต่โบราณกาลมาปัดฝุ่นใหม่แล้ว เหล่าปัญญาชนพุทธศรีลังกาในขณะนั้นยังได้นำเอาข้อปฏิบัติบางประการของศาสนาคริสต์มาประยุกต์ใช้กับพุทธศาสนาด้วย เพื่อที่จะทำให้พุทธศาสนาสามารถตรึงจำนวนศาสนิกชนไม่ให้ไม่ให้ลดลงกว่านี้ ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่าประเพณีวันวิสาขบูชาก็ย่อมจะต้องได้รับการฟื้นฟูในลักษณะดังที่ได้กล่าวมาเช่นกัน ในที่สุด ความพยายามของขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนาดังกล่าวก็เป็นผล เมื่อรัฐบาลอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษยอมประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2428 หลังจากที่ถูกสั่งยกเลิกมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่สมัยที่ดัทช์ยังปกครองประเทศอยู่ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ประเพณีเทศกาลวันสาขบูชาของศรีลังกาในปัจจุบัน จึงมีส่วนผสมของวิวัฒนาการช่วงก่อนสมัยอาณานิคมและยุคอาณานิคม โดยมีลักษณะดังนี้ เมื่อเริ่มต้นรุ่งอรุณของวันวิสาขบูชา บรรดาวัดต่างๆ ทั่วทุกแห่งในศรีลังกา จะประโคมเสียงกลองและระฆังให้กึกก้อง เพื่อที่จะประกาศการเริ่มต้นของวันวิสาขบูชา จากนั้นประชาชนที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ก็จะพากันนุ่งขาวห่มขาว ไม่สวมเครื่องประดับหรืออัญมณีใดๆ รวมถึงไม่แต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอางใดๆด้วย แล้วก็จะพากันเข้าวัด ถือศีล 8 หรือศีล 10 ตามแต่สะดวก (ภาษาสิงหล เรียกว่า ซิล ซึ่งมาจากคำว่า ศีล นั้นเอง) นั่งสมาธิภาวนา เจริญปัญญา สนทาปัญหาธรรม หรือฟังเทศน์ฟังธรรมกัน โดยจะอยู่ที่วัดตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงตอนเย็น หรืออาจจะค้างคืนที่วัดเลยก็ได้ ส่วนประชาชนที่ทั่วไปที่มีศรัทธาระดับปานกลางหรือระดับทั่วไป ซึ่งยังไม่อาจงดเว้นจากความต้องการทางโลกได้อย่างเด็ดขาด ก็จะมารวมตัวกันฟังพระอ่านพระไตรปิฏกหรือเรื่องราวจากชาดกต่างๆ (เรียกกันว่า บานา - Bana ในภาษาสิงหล) ในช่วงตอนหัวค่ำหลังพระอาทิตย์ตก ซึ่งข้อปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยอาณานิคมแล้ว 

      ตามบ้านเรื่อน ท้องถนน รวมถึงสถานที่สาธารณะต่างๆ จะสว่างไสวไปด้วยแสงจากโคมไฟ ซึ่งมีโครงเป็นไม้ไผ่หุ้มด้วยกระดาษแก้วสีสันสวยงาม หรืออาจทำจากดินเผา โดยภายในโคมไฟจะเป็นเทียนไขหรือหลอดไฟฟ้าก็ได้ ส่วนเรื่องขนาดของโคมไฟนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานที่จะเอาโคมไฟไปวาง หากเป็นสถานที่ราชสาธารณะก็จะต้องใช้โคมไฟขนาดใหญ่ หากเป็นตามบ้านก็จะนิยมแขวนโคมไฟขนาดเล็กๆ โคมไฟทั้งหลายเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แทนแสงสว่างแห่งปัญญาของพระพุทธองค์ที่แผ่ออกมาส่องทางให้แก่ผู้ที่มืดบอดได้เห็นทางที่ถูกต้องนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการห้อยธงฉัพพัณรังสี (Buddhist Flag)ไว้ตามบ้านและสถานที่ต่างๆอีกด้วย ธงนี้ประกอบด้วยสี 6 สี คือ สีฟ้า หรือ นีละ (ซึ่งแทนความเมตตากรุณาและสันติสุข) เหลืองทอง หรือ ปีตะ (ซึ่งแสดงถึงทางสายกลาง) แดง หรือโลหิต(แทนพรอันประเสริฐจากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์) ขาว หรือ โอทตะ (แทนความบริสุทธิของพระธรรม )ส้ม หรือ มันเชสตะ (แทนคำสั่งสอนของพระพุทธองค์) และสีแก้วผลึก หรือประภัสสระ (แก่นแท้ของแสง) ซึ่งเกิดจากนำสีทั้งห้าดังกล่าวมาผสมกัน สีทั้งหกนี้เป็นแสงสีที่เปล่งออกมาจากพระวรกายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่พระองค์ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยสีฟ้าจะมาจากพระเกศา สีเหลืองทองจากพระฉวี สีแดงคือแสงจากพระมังสาและพระโลหิต สีขาวมาจากพระอัฐิและพระทนต์ และสีส้มคือแสงจากฝีพระโอษฐ์และฝ่าพระบาท ธงนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของคณะกรรมการป้องกันพุทธศาสนา (Buddhist Defense Committee) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2428 เพื่อเป็นตัวแทนในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันแก่ชาวพุทธศรีลังกาในสมัยอาณานิคม โดยผู้ที่เป็นต้นตำหรับความคิดเรื่องธงฉัพพัณรังสีก็คือ พันเอกเฮนรี สตีล โอลคอตต์ (Colonel Henri Steel Olcott) อดีตนายทหารชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดังกล่าวและเป็นแกนนำสำคัญของขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกาด้วย โดยหวังจะให้ธงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของพุทธศาสนาเช่นเดียวกับที่ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์นั้นเอง ส่วนผู้ที่ออกแบบรูปลักษณ์และสีสันของธงก็คือนายแคโรลิส ปูชิถะ คุณวรรเทนะ (Carolis Pujitha Gunawardena) ซึ่งเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการดังกล่าวในขณะนั้น ธงนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นธงชาวพุทธทั่วโลกในการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ตามบริเวณต่างๆของย่านตัวเมืองจะมีการทำโตรนะ (Torana) หรือซุ้ม ซึ่งจะแสดงภาพเหตุการณ์ต่างๆ ของพุทธประวัติหรือภาพที่บอกเล่าเรื่องราวจากชาดกต่างๆ โดยจะประดับด้วยหลอดไฟฟ้าสีสันสวยงาม ประเพณีนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับเทศกาลปรากฏในจารึกหลักที่ 4 ของพระเจ้าอโศกมหาราช และคำบอกเล่าของฟาเหียน (Faxian - พ.ศ. 880 – 965) ภิกษุชาวจีนที่เดินทางมาชมพูทวีปในรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พ.ศ. 923 – 958) แห่งราชวงศ์คุปตะ (พ.ศ. 863 – 1093) ในระหว่าง พ.ศ. 942 – 955 ที่ต่างกล่าวถึงการจัดขบวนรถแห่ซุ้มประดับด้วยพระพุทธรูปหรือเทวรูป นอกจากนี้ตัวอย่างโตรนะยุคแรกๆ ในอินเดีย ซึ่งเป็นต้นแบบของโตรนะในศรีลังกา ยังสามารถเห็นได้จากซุ้มประตูที่สาญจี ที่เมืองโภปาล (Bhopal) ในรัฐมัธยประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างโตรนะขึ้นมาเพื่อแสดงความเลิศเลอทางศิลปะในโอกาสเทศกาลศาสนานั้นเกิดขึ้นในสมัยอาณานิคม โดยดัดแปลงมาจากลักษณะบางประการของประเพณีการทำภาพแสดงประสูติกาลของพระเยซู (Nativity scenes) ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก โดยเฉพาะฉากการประสูติของสิทธัตถะกุมารในสวนลุมพินีวัน       ในวันนี้ชาวพุทธจะร้องเพลงประสานเสียงสรรเสริญพระพุทธคุณ ซึ่งเรียกกันว่า เวสัก ภักติ คีตา (Wesak Bhakti Gita) และมักจะมีการประกวดร้องเพลงประเภทนี้ให้เห็นอยู่เป็นประจำ โดยกลุ่มผู้ขับร้องจะใส่เสื้อผ้าสีขาว ซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิและจิตใจที่พร้อมจะอุทิศแก่พระพุทธองค์ ประเพณีนี้เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม โดยดัดแปลงมาจากประเพณีการร้องเพลงวันคริสต์มาส การทำเช่นนี้เหล่าปัญญาชนชาวพุทธยุคนั้นเล็งเห็นว่าจะช่วยทำให้การแสดงออกซึ่งศรัทธานั้นมีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางเหมือนที่เป็นมาก่อนหน้านั้น อีกทั้งยังจะช่วยทำให้พุทธศาสนาเข้าถึงคนทั่วไปมากขึ้น โดยทำให้ดูมีลักษณะทางโลกมากขึ้นและดูไม่น่าเบื่อหรือเป็นสิ่งที่พ้นโลกเกินกว่าความเข้าใจของปุถุชนเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อคงความเหนียวแน่นของพุทธบริษัทไว้ ไม่ให้ลดน้อยลงตามกระแสการเปลี่ยนศาสนาในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูจะเป็นเจตนาอีกประการที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการทำให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง 

      วันวิสาขบูชาเป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชนในศรีลังกาจะได้ให้ทานกันอย่างจริงจัง โดยจะมีการตั้งโรงทานชั่วคราวซึ่งเรียกกันว่า ทานสาล (Dansala) หรือศาลาให้ทานนั้นเอง ขึ้นมาตามที่ต่างๆ สำหรับทานที่ให้นั้นจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะให้แก่ใครก็ได้ที่เดินผ่านมา โดยไม่มีการเลือกชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ สัญชาติ หรือแม้แต่ศาสนา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่จะเห็นชาวศรีลังกาหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากยืนต่อแถวเรียงคิวเข้ารับอาหารที่แจกฟรีตามทานสาลในจุดต่างๆ ประเพณีนี้เป็นการขยับขยายการให้ทานที่กษัตริย์ศรีลังกาในอดีตเคยปฏิบัติลงมาสู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งใครก็สามารถทำได้ สำหรับเงินที่นำมาใช้ในการจัดตั้งทานสาลนั้นอาจจะมาจากเงินทุนของบุคคลเพียงคนเดียว หรือมาจากการลงขันของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้ โดยกรณีหลัังนี้จะสามารถพบได้บ่อยมาก เนื่องจากผู้คนในชุมชนต่างๆจะนิยมบริจาคเงินคนละเล็กคนละน้อยเพื่อเป็นทุนในการจัดทานสาลในชุมชนของตน การทำเช่นนี้จะทำให้คนทั้งผู้บริจาคจำนวนมากได้บุญและความสุขจากการทำบุญ ในขณะเดียวกันผู้มารับทานก็ได้อิ่มท้องและมีความสุขจากการรับทาน แต่อย่างไรเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเกิดไมตรีจิตระหว่างผู้ให้กับผู้รับโดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ นั้นเอง ซึ่งเข้ากับหลักมหาสุข (Mass Happiness) โดยแท้ 

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการสำหรับกิจกรรมการตั้งทานสาลก็คือ ในปัจจุบันมีศาสนิกชนจากศาสนาอื่นๆ ในศรีลังกาหันมาตั้งทานสาลในวันวิสาขบูชามากขึ้น เพื่อให้ทานแก่ผู้คนที่ผ่านไปมาโดยไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มคนจากศาสนาของตน ซึ่งนี่อาจจะเป็นเพราะพวกเขาเข้าใจถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการให้ทานก็ได้ ว่าคือการลดความตระหนี่ถี่เหนียวและในขณะเดียวกันก็สร้างจิตเมตตากรุณาให้บังเกิดขึ้น และในการทำเช่นนี้ พรมแดนทางศาสนาก็ไม่อาจจะขวางกั้นได้ นอกจากนี้แล้ว ในตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม ผู้คนก็จะนิยมมอบการ์ดอวยพรวันวิสาขบูชาให้กันอีกด้วย โดยจะมีวางขายตามร้านค้าและตามแผงลอยตามทองถนน ประเพณีนี้ก็มีจุดเริ่มต้นจากขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนาในสมัยอาณานิคมอีกเช่นกัน โดยดัดแปลงจากประเพณีการมอบการ์ดอวยพรวันคริสต์มาสนั่นเอง ทั้งนี้นอกจากจะทำเพื่อให้ประเพณีพุทธดูทันสมัยขึ้นและเข้าถึงคนได้มากขึ้นแล้ว ก็ยังเพื่อสร้างความรู้สึกสุขใจแก่ผู้รับในวันวิสาขบูชาอีกด้วย อีกสิ่งที่อาจจะเป็นข่าวดีสำหรับคนทั่วไปในวันนี้ก็คือ ธุรกิจห้างร้านต่างๆ อาจจะถือโอกาสลดราคาสินค้าเพื่อเป็นการสมนาคุณลูกค้าได้ สำหรับบทบาทภาครัฐในศรีลังกาเกี่ยวกับเรื่องการจัดเทศกาลวันวิสาขบูชานั้น จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลจะสั่งปิดร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และโรงฆ่าสัตว์ในช่วงวันวิสาขบูชา และในขณะเดียวกันสัตว์ที่จะถูกฆ่าวันนี้ก็จะได้รับการละเว้นชีวิตไปโดยปริยาย ม่ว่ากิจกรรมที่จัดให้มีขึ้นในศรีลังกาวันนี้จะเกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณหรือเกิดจากการปรับตัวเพื่อต่อสู้กับระบบอาณานิคม แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปแล้ว ก็จะพบว่ากิจกรรมเหล่านี้ล้วนแต่จะช่วยส่งเสริมความนิยมของพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนาสามารถสืบต่อได้มั่นคงในศรีลังกา แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการยกระดับจิตของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยจิตที่น้อมนำนั้นเอง 

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ