ข้อมูลเที่ยวศรีลังกา : ​ช้างศรีลังกา

ช้างศรีลังกา
ช้างศรีลังกา (อังกฤษ : Sri Lankan elephant; สิงหล : ශ්‍රි ලංකා‍ අලියා; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elephas maximus maximus) เป็นช้างเอเชียชนิดย่อยชนิดหนึ่ง มีถิ่นกระจายพันธุ์เฉพาะบนเกาะซีลอน หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบันเท่านั้น

ช้างศรีลังกา ได้ถูกอนุกรมวิธานแยกออกจากช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ โดยคาโรลัส ลินเนียส นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนเมื่อปี ค.ศ. 1758 โดยถือว่าเป็นชนิดต้นแบบของช้างเอเชียด้วย ช้างศรีลังกา มีลักษณะรูปร่างที่ใหญ่โตกว่าช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ มีผิวหนังสีคล้ำหรือสีดำ ขนาดใบหูใหญ่และมีสีกระจายมากบริเวณใบหู ใบหน้า งวงและลำตัว ตัวผู้หรือช้างพลายส่วนใหญ่จะเป็น ช้างสีดอ คือ ไม่มีงา มีแต่ขนายซึ่งเป็นงาขนาดเล็กโตประมาณเท่าข้อมือ (เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร) ยาวไม่พ้นปากหรืออาจยาวพ้นปากเพียงเล็กน้อย มีน้อยตัวที่มีงา ส่วนตัวเมียหรือช้างพังมีลักษณะเหมือนกับช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ คือไม่มีงา มีแต่ขนายเท่านั้น ช้างศรีลังกา มีความผูกพันกับมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยชาวศรีลังกาเชื่อว่า ด้วยความที่เป็นสัตว์ใหญ่และมีผิวสีคล้ำ จึงเป็นสัญลักษณ์ของเมฆฝน ช้างศรีลังกาจึงใช้ในงานแห่เพื่อขอฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเทศกาลเอสสะลา เพราเฮราหรืองานฉลองพระเขี้ยวแก้วของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเทศกาลแห่ไปตามท้องถนนที่ยิ่งใหญ่ของศรีลังกา ช้างศรีลังกาถือเป็นหลักของเทศกาลนี้ ช้างที่ถูกเลือกให้เป็นพาหนะและร่วมไปในขบวนเทศกาลนี้ จะเป็นช้างที่ถูกเลือกคัดสรรเป็นอย่างยิ่ง หากเป็นช้างพลายต้องเป็นช้างที่ไม่อยู่ในอาการตกมัน มีอากัปกิริยาที่สงบเรียบร้อย เชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ ช้างตัวที่ถูกคัดเลือกจะได้รับการตรวจสภาพร่างกายและบำรุงให้มีความพร้อมจากสัตวแพทย์ และถูกพาไปกินอาหารที่หลังภูเขาอันเป็นแหล่งที่มีอาาหรช้างอุดมสมบูรณ์ ต่อจากนั้นจะถูกตกแต่งร่างกายด้วยสีสันต่าง ๆ รวมถึงผ้าหลากสี และหลอดไฟประดับตามส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะช้างตัวที่ต้องเป็นพาหนะในการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งถือเป็นช้างประธาน โดยมีคติว่า แสงไฟและแสงสว่างจะเป็นสิ่งช่วยป้องกันพระเขี้ยวแก้วจากสิ่งชั่วร้ายที่มาคุกคามต่าง ๆ นานา

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ