ข้อมูลเที่ยวพม่า : ข้อมูลอาหารการกินของชาวพม่า
ข้อมูลอาหารการกินของชาวพม่า
ชาวพม่าทั่วไปนิยมบริโภคข้าวเจ้าเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับชาวไทยภาคกลาง ส่วนกับข้าวก็มีทั้งแกง ต้ม ผัด และน้ำพริก จึงดูคล้ายกับอาหารไทย เว้นแต่องค์ประกอบและรสชาติของอาหารจะแตกต่างจากอาหารไทยอยู่พอควร กับข้าวพม่ามีองค์ประกอบเป็นเนื้อและผักนานาชนิด เนื้อที่นิยมบริโภคมีทั้งเนื้อแพะ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ และปลา แต่เมื่อยามถือศีลคนพม่ามักงดอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อวัว ด้วยถือว่าวัวเป็นสัตว์ให้คุณใช้แรงงาน บ้างเชื่อว่าเนื้อวัวเป็นอาหารแสลง คนมีแผลหนองไม่ควรรับประทาน การเรียกชื่อเนื้อวัวก็เลี่ยงใช้เป็นอย่างอื่น คือ วัวเป็นๆจะเรียกว่า นวฺาหรือนัว แต่เรียกเนื้อวัวว่า อะแมตา ซึ่งสะท้อนอิทธิพลฮินดูที่นับถือวัวยิ่งกว่าสัตว์อื่น ในบรรดาอาหารเนื้อนี้ ปลานับว่ามีราคาถูก และมักเป็นปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียน ปลาค้าว ปลากด ปลาหมอ ปลากระดี่ และที่นิยมกินกันมาก คือ งาตะเล่าก์ ซึ่งน่าจะเป็นปลาตะลุมพุก ไข่ปลาชนิดนี้ชาวพม่าถือเป็นอาหารชั้นดี ในประเทศพม่านั้นปลาเกือบทุกชนิดมีแต่ตัวใหญ่ๆ ปลาบางชนิดต้องแล่แบ่งขายเป็นท่อนๆ พม่าออกจะมีปลาอุดมสมบูรณ์ ต่างจากไทยที่คนรุ่นหลังมักไม่ค่อยได้เห็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ในแม่น้ำลำคลองกันบ่อยนัก ในส่วนของปลาทะเลนั้น แถบย่างกุ้งแม้จะอยู่ไม่ห่างจากทะเลมากนักแต่ก็ไม่ค่อยพบอาหารทะเล และที่ว่าไปย่างกุ้งจะต้องกินกุ้งย่างอร่อยๆให้ได้นั้นเห็นจะต้องผิดหวัง เพราะไม่ค่อยเห็นมีกุ้งตัวใหญ่ๆวางขายในตลาดสดมากนัก พบแต่กุ้งตัวขนาดแค่คืบ นำมาทำแกงขายตกตัวละ ๔๐๐ จั๊ต ซึ่งนับว่าแพง นอกนั้นจะเป็นกุ้งแห้งกุ้งฝอย มีขายอยู่ในตลาดสดแทบทุกแห่ง หันมาดูพืชผักที่ชาวพม่านิยมบริโภคกันบ้าง ผักที่พม่าชอบกินก็มีเห็นๆอยู่ทั่วไปในเมืองไทย ที่พบขายอยู่บ่อย เช่น ใบกระเจี๊ยบแดง ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักชี ใบบัวบก กะหล่ำปลี ผักกาดหอม ที่เป็นพืชกินผล กินหัว กินเหง้า มีอาทิ มะเขือยาว มะเขือเทศ แตงกวา แตงร้าน น้ำเต้า มะรุม ลูกเนียง หัวผักกาดขาว มันฝรั่ง หยวกกล้วย หน่อไม้ แครอท และถั่วนานาชนิด พม่าไม่มีผัก "อนามัย" อย่างบ้านเรา ผักทุกชนิดที่ขายตามท้องตลาดมีระดับเดียวคือ "แบกับดิน" แต่ก็เป็นผักใหม่ สด อวบ น่ารับประทาน ส่วนใหญ่เป็นผักที่ใช้ปุ๋ยธรรมชาติใกล้ตัวแทบทั้งสิ้น แต่ไว้ใจได้ว่าปลอดสารพิษ บ้านพม่าส่วนใหญ่ตามชนบทหรือชานเมืองมักมีสวนครัวในบริเวณบ้านปลูกผักไว้กินเอง ที่พบบ่อยๆก็คือร้านน้ำเต้าลูกโตๆ สวนครัวจึงถือเป็นตลาดหลังบ้านสำหรับชาวพม่า จนมีคำพูดติดปากว่า "ปลูกร้านค้าไว้หลังบ้าน" แม้ไม่พึ่งตลาด ก็อยู่ได้สบาย
สำหรับพืชผักที่คนพม่าชอบกินเห็นจะเป็นผลน้ำเต้า ใบกระเจี๊ยบแดง และถั่ว น้ำเต้ากินได้ทั้งยอดและผล นำมาแกง ต้ม และทอดชุบแป้งกินเป็นของว่าง ส่วนใบกระเจี๊ยบปรุงเป็นอาหารได้ทั้งต้มและผัด หากต้มจะเรียกว่า ฉี่งบ่องฮีงโฉ่หรือนำมาผัด เรียกว่าฉี่งบ่องจ่อใบกระเจี๊ยบจัดได้ว่าเป็นอาหารประจำสำรับ ช่วยเจริญอาหาร และแก้เลี่ยนไปในตัว สำหรับถั่วนั้นเป็นพืชเกษตรเช่นเดียวกับข้าว พม่านิยมบริโภคถั่วถึงราว ๒๐ ชนิด อาทิ ถั่วลิสง ถั่วแขก ถั่วเนย ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วผีเสื้อ เป็นต้น พม่าปลูกถั่วกันมากทางตอนบนของประเทศ คนพม่านำถั่วมาปรุงอาหารได้สารพัดอย่าง ทั้งแกง ต้ม ผัด คั่ว หมัก และทำเป็นน้ำมันปรุงอาหาร หากเยือนพม่าแล้วไม่ได้กินถั่ว หรือพลาดลิ้มรสน้ำเต้าและใบกระเจี๊ยบ ถือว่ายังตีไม่ถึงท้ายครัวพม่า สิ่งที่อาหารชาติไหนๆ มักขาดไม่ได้ก็คือเครื่องปรุงรส การปรุงอาหารให้มีรสชาติและมีกลิ่นหอมชวนกิน พม่าจะใช้น้ำมัน เกลือ หัวหอม และกระเทียมเป็นเครื่องปรุงหลัก และใช้ขิง ตะไคร้ ผักชี ใบแมงลัก ใบมะขาม มะนาวหลวง (พม่าเรียกเช่าก์ตี่ ผงกะหรี่ พริก น้ำปลา ซีอิ๊ว ปลาร้า กะปิ ถั่วเน่า และปลาแห้งเป็นเครื่องปรุงเสริมตามชนิดของอาหาร อาทิ แกงสี่เบี่ยง มีหน้าตาคล้ายแกงฮังเลของไทยภาคเหนือ และคล้ายแกงมัสมั่นของแขก พม่านิยมใส่ขิงเป็นเครื่องปรุงสำคัญ แต่จะไม่ใส่เครื่องเทศมากมายอย่างแกงแขก สำหรับแกงฮีงเล ของพม่าที่ฟังชื่อคล้ายกับแกงฮังเลของคนเมืองกลับมีหน้าตาเหมือนแกงโฮะ ไม่ทราบว่าเป็นด้วยเพราะเหตุใด
คนพม่าไม่กินใบกะเพรา แต่จะกินเฉพาะใบแมงลัก ใบกะเพรานั้นพม่าถือเป็นอาหารสำหรับวัวเท่านั้น คนพม่าจึงมักแปลกใจที่คนไทยนิยมกินใบกระเพา ทำนองเดียวกัน คนไทยทั่วไปจะเห็นแกงไข่ต้มของพม่าเป็นของแปลกเช่นกัน ส่วนมะนาวนั้นพม่ากินกันน้อยเพราะราคาแพงพอๆกับไข่ไก่ คนพม่าจึงใช้มะนาวหลวงซึ่งมีลูกโตกว่าและให้น้ำได้มากกว่ามะนาวควายอย่างที่ไทยนิยม นอกจากนี้ก็ใช้ใบมะขามหรือมะขามเปียกเพิ่มรสชาติด้วยเช่นกัน เครื่องปรุงอีกชนิดที่อดพูดถึงไม่ได้คือ ผงชูรส หรือที่พม่าเรียกว่า อะโฉ่-ฮม่ง แปลตามศัพท์ได้ว่า "ผงหวาน" หากกินอาหารพม่าก็ยากที่จะเลี่ยงผงชูรส เพราะเห็นทั้งแม่ค้าและแม่ครัวชอบปรุงอาหารด้วยผงชูรสกันทีละมากๆ กับข้าวทุกชนิดไม่ว่าจะต้มยำทำแกงอะไรก็ใส่ผงชูรสจนสิ้น แม้แต่โรยคลุกข้าวกินก็มี ที่น่าสนใจคือชาวพม่าจะใช้ผงชูรสประกอบในเครื่องเซ่นเจ้าที่ ส่วนน้ำปลานั้นทางพม่ามีเหมือนไทย นิยมขายเป็นแกลลอนหรือเป็นถุง มีทั้งน้ำปลาชนิดน้ำใสและชนิดน้ำขุ่นจนดำสนิท พม่าเรียกน้ำปลาว่า หงั่งปยาเหย่ ฝ่ายพม่าเชื่อว่าน่าจะเป็นคำไทยประสมคำพม่า มีคำว่า เหย่ เท่านั้นที่เป็นคำพม่า แปลว่า "น้ำ" ส่วน หงั่งปยา ('"exk) เชื่อว่าคงจะเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า น้ำปลา ของไทย
ทีนี้มาถึงเรื่องกะปิปลาร้ากันบ้าง พม่าเรียกรวมๆว่า งาปิ๊ ออกเสียงสั้นๆว่า งะปิ๊ คำนี้แปลตามศัพท์ได้ว่า "ปลาหมัก" นั่นคือ งา แปลว่า"ปลา" และ ปิ๊ แปลว่า "หมักหรือกดอัด" คำว่ากะปิของไทยจึงน่าจะเพี้ยนมาจากงะปิ๊ของพม่า (ภาษามอญเรียกปลาว่า ก๊ะ)งะปิ๊พม่ามีหลายชนิด หากเป็นปลาร้าตัวโตๆจะเหมือนกับปลาหมักเค็มเรียกว่า งะปิ๊ก่อง หากเป็นปลาหมักตัวเล็กๆก็จะเหมือนกับปลาร้าของไทย แต่ถ้าทำกินเป็นปลาร้าหลนเรียกว่า งะปิ๊เหย่โจ่และถ้าทำเป็นน้ำจิ้มเจือแค่พริกป่นจะเรียกว่า งะปิ๊แชะส่วนกะปิที่ทำมาจากกุ้งจะเรียกว่า เซงซางะปิ๊ หากทำจากกุ้งเคยจะเรียก เคว-งะปิ๊หรือ มยีงงะปิ๊ เมื่อนำกะปิมาโขลกจะเรียกว่างะปิ๊ทอง ชาวพม่าตอนล่างเท่านั้นที่นิยมกินกะปิปลาร้าเหมือนๆไทยภาคกลาง แต่พม่าตอนบนจะนิยมกินถั่วเน่าที่เรียกว่า แบ-งะปิ๊ หรือ แบโป๊ะ คำหลังแปลว่า "ถั่วเน่า" ความหมายจึงตรงกับที่ไทยเรียก โดยทั่วไปจะเห็นคนพม่าในย่างกุ้งกินน้ำพริกปลาร้ามากกว่าน้ำพริกกะปิ ด้วยเหตุผลง่ายๆว่าหากะปิดีๆมาตำกินไม่ค่อยได้ กะปิที่มีชื่อของพม่าคือกะปิจากเมืองมะริด เขตจังหวัดตะนาวศรี รองลงมาก็จากเมืองเควในรัฐยะไข่ เป็นกะปิดี ขึ้นชื่อเทียบได้กับกะปิระยองของไทยเรา จะเห็นได้ว่า กะปิ ของพม่า จึงมีทั้งที่ทำจากปลา กุ้ง เคย ถั่ว แล้วเรียกเหมือนกันว่า งะปิ๊ มีความหมายคลุมทั้งกะปิ ปลาร้า และถั่วเน่า นอกจากนี้พม่ายังนิยมกินน้ำถั่วหมักที่เรียกว่า โปงเหย่ และงาหมักที่เรียกว่า นังพัดฉี่งเป็นเครื่องจิ้มหรือคลุกข้าวกิน จากร่องรอยของศัพท์ กะปิจากพม่า และน้ำปลาจากไทย น่าจะบอกได้ว่าพม่ากับไทยคงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริโภคกะปิกับน้ำปลากันมาแต่อดีต
นอกจากนี้ยังมีขนมจีนน้ำยาตำรับพม่า เรียกว่า ม่งฮีงคา (,6oNhs'Nt-jt) แปลว่า "ขนมแกงขม" ขนมจีนถือเป็นอาหารยอดนิยมของพม่าเช่นกัน แต่น้ำยาของพม่าจะต่างไปจากน้ำยาไทยตรงที่พม่านิยมใส่ขมิ้น ขิง หยวกกล้วย และมีเครื่องเคียงน้ำยาเป็นจำพวกของทอดอย่างเช่น น้ำเต้าทอด และไม่นิยมกินขนมจีนกับผักสด ส่วนอาหารว่าง เช่น ซาลาเปา ปาท่องโก๋ และโรตี มักจะกินกับชาร้อนใส่นมที่พม่าเรียกว่า ละแพะเหย่ (]dNzdNiPN) หรือ ละแพะเหย่โฉ่ (]dNzdNiPN-y7b) ของกินเล่นอีกอย่างที่คนพม่านิยมคือเมี่ยงดอง นำมาคลุกเครื่องเรียกว่า ละแพะโต๊ะ(]dNzdNl6xN) กินกับของทอด เช่น ถั่วทอด กระเทียมทอด ขิงทอด และงาคั่ว
คนพม่านิยมดื่มน้ำชาร้อนอย่างคนจีน พม่าเรียกน้ำชาร้อนว่า ละแพะเหย่จาง(]dNzdNiPNEd,Nt) หรือ เหย่-นเวจาง(gigO:tEd,Nt) และดื่มกันได้ทั้งวันทั้งคืน คนพม่าถือว่าน้ำชาเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ ช่วยแก้เลี่ยน แก้กระหาย และช่วยขับเสลด ส่วนน้ำเย็นนั้นจะดื่มกันบ้างเป็นครั้งคราว โดยจะแช่ทิ้งไว้ในโอ่งดิน น้ำแข็งในพม่าถือเป็นของแพง หากกินมากอาจทำให้เสาะท้อง จึงนิยมกันไม่มากนัก และถ้าเดินไปรอบๆพระเจดีย์ชเวดากองจะพบร้านขายน้ำเย็น (เหย่เอ้~gigvt) เป็นน้ำเปล่ากรองผ่านก้อนน้ำแข็ง ราคาแก้วละหนึ่งจั๊ต หากไม่จำเป็นนักก็ไม่ควรเสี่ยงกิน นอกจากนี้ยังมี น้ำอ้อย (จังเหย่~]d"iPN) ที่ทำให้ท้องเสียได้ง่ายเช่นกัน หากผ่านสวนตาลก็มีน้ำตาลสดที่พม่าเรียกน้ำตาลหวาน(ทะเยโฉ่~5oNtiPN-yb7) และน้ำตาลเมาที่พม่าเรียก น้ำตาลขม (ทะเยคา~5oNtiPN-jt) น้ำอัดลมก็พอมีขาย เช่น น้ำมะเน็ต(สป๊ากะหลี่ง~0xjd]'N) น้ำส้ม แป๊บซี่ (แป๊ะสี่ ~ xdN(xN)0u) มิรินด้า เซเว่นอัพ ที่จริงแล้วหากอยู่พม่าก็ควรดื่มน้ำชาหรือน้ำสุก ด้วยทั้งประหยัดและปลอดภัย
ผลไม้พม่าเรียกว่า ติจ์ตี (l0Nlut) ในย่างกุ้งหาผลไม้กินยากสักหน่อย ที่พบเห็นบ่อยๆก็มีกล้วย และมะพร้าว เพราะเป็นผลไม้ที่นิยมใช้บูชาเทพนัต พม่าเรียกกล้วยหักมุกว่า พีจาง เรียกกล้วยหอมว่า ตี-มเว(lutg,ญt) ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า "ผลหอม" และเรียกกล้วยน้ำว้าว่ากล้วยยะไข่หรือ ยะข่ายแงะปยอตี ชาวพม่าดูจะนิยมกินกล้วยหักมุกมากที่สุด เห็นบอกว่าช่วยบำรุงสุขภาพและมักนำไปถวายพระ จึงต่างจากไทยที่นิยมกล้วยน้ำว้ามากกว่า ส่วนผลไม้ที่น่ากินมีเพียงมังคุด และองุ่นแดง ซึ่งมีรสชาติดี มะม่วงพม่านั้นมีหลายชนิดที่คล้ายไทย เช่น มะม่วงมัน มะม่วงพิมเสน แต่มีรสชาติด้อยกว่ามะม่วงไทย พม่ามีมะม่วงชนิดหนึ่งเรียกว่า หยี่งกแว แปลว่า "อกแยก" มีความหมายและรูปร่างคล้ายๆกับอกร่องไทย แต่รสชาติต่างกันลิบ เว้นแต่บางปีจึงจะมีรสดี บางลูกกินแล้วคันคอ จนน่าจะเรียกว่า"มะม่วงอกแตก" เสียมากกว่า มะม่วงที่ขึ้นชื่อของพม่ามีอาทิ มัณฑะเลหยี่งกแว มยะชิตสุ เซงตะโลง (0boN9]6"t) ส่วนแตงโมรสดีเห็นจะเป็นแตงโมพันธุ์โยเดียที่หาซื้อได้ตามทางไปเมืองพะโคหรือหงสาวดีนามเดิม
คนพม่านิยมสูบบุหรี่และเคี้ยวหมากกันมาก นับแต่เด็กวัยรุ่นจนถึงพ่อเฒ่าแม่แก่ต่างติดบุหรี่ติดหมากกันไม่น้อย พม่าเรียกบุหรี่ว่า เซเละ แปลตามศัพท์ว่า "ยามวน" ส่วนหมากจะเรียกว่า กวาน หรือ กูน ซึ่งมีเครื่องปรุงหลายรส ทำเป็นหมากคำ เรียกว่า กูนหย่า หมากคำของพม่าจะห่อพับด้วยใบพลูเป็นคำๆ ไม่นิยมมวนอย่างไทยเรา หากเดินตามท้องถนนไม่ว่าย่านไหนๆจะพบเห็นร้านทำเป็นซุ้มขายหมากคำและยามวนได้ไม่ยาก บางทีจะพบพ่อค้าบุหรี่และหมากคำเดินเร่ขายตามย่านชุมชน ฉะนั้นผู้ยังหลงใหลในรสชาติของบุหรี่ หากไปพม่าก็คงสะดวกใจที่ไม่มีใครมาคอยค่อนแคะให้หงุดหงิด แต่จะยุ่งใจก็ตรงที่จะต้องพกบุหรี่ที่ถูกใจไปเอง เพราะคนพม่าชอบสูบยาฉุนแบบบุหรี่ขี้โยและไร้ก้นกรอง ส่วนบุหรี่รัฐบาลหรือบุหรี่นอกก็มีวางขายอยู่ทั่วไปเหมือนกัน พม่าเริ่มรณรงค์เกี่ยวกับภัยของบุหรี่บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีโฆษณาขายบุหรี่ทางโทรทัศน์ ส่วนหมากนั้น ตอนนี้ห้ามซื้อขายกันในเขตตัวเมือง อีกทั้งมีป้ายปรามไม่ให้บ้วนน้ำหมากขี้หมากในที่สาธารณะ หากละเมิดก็อาจถูกปรับถึงห้าร้อย จั๊ต นับว่าสูงพอๆกับรายได้สำหรับคนพม่าจนๆ ทั้งเดือนทีเดียว หญิงและชายพม่านิยมบุหรี่ต่างกัน ผู้ชายจะสูบบุหรี่มวนเล็กขนาดเท่านิ้วก้อย แต่มีรสชาติแรง เรียกว่า เซ-ปยีงเละ แต่แม่หญิงเธอมักสูบบุหรี่มวนโตๆขนาดสักสองนิ้วหัวแม่มือ แต่ก็เป็นยารสเบา เรียกว่า เซเปาะเละ ใบไม้ที่ชอบใช้มวนยาเส้นอาจเป็นใบหมันดง หรือเปลือกข้าวโพด สะดวกสุดก็มวนด้วยกระดาษ ที่ว่าทำไมผู้หญิงชอบบุหรี่มวนโตกว่าบุหรี่ที่ผู้ชายสูบนั้น ชายก็หาว่าฝ่ายหญิงมีโลภจิต หญิงก็ว่าต้องวุ่นอยู่กับงานไม่มีเวลาว่างมากอย่างผู้ชายที่หาเวลามวนบุหรี่ได้บ่อยๆ จึงไม่ทราบว่าเป็นเพราะหญิงงกหรือชายขี้เกียจกันแน่ นี่ก็เพียงแค่เถียงกันเล่นๆให้สนุกสนานเท่านั้น หากทว่าผู้ชายสูบบุหรี่รสแรงมวนโตพอๆกับบุหรี่ของผู้หญิงก็คงเมาหัวทิ่ม ฉะนั้นบุหรี่รสแรงมวนเล็กก็พอเหมาะพอควรอยู่แล้ว ส่วนบุหรี่สำหรับผู้หญิงนั้นมีรสเบา จึงต้องสูบมวนโตสักหน่อยจึงจะได้รสชาติดี
สรุปแล้วในด้านอาหารการกินนั้น แม้คนไทยกับคนพม่าจะชอบกินข้าวเจ้าเหมือนกัน แต่กลับนิยมรสชาติอาหารต่างกันอยู่มาก พม่าชอบรสมัน ไม่ชอบรสหวานแบบไทย ของกินพม่าที่พบเห็นกินกันเป็นประจำมี ของทอด ของยำ ต้ม แกง และกะปิปลาร้า พืชผักก็มักเป็น ถั่ว น้ำเต้า ใบกระเจี๊ยบ เป็นอาทิ เนื้อแพะและปลาจะหากินง่ายกว่าเนื้ออย่างอื่น อาหารพม่าบางอย่างรับมาจากไทย และอาหารไทยบางอย่างก็รับมาจากพม่าเช่นกัน แต่พัฒนารสชาติแตกต่างกันไป นอกจากนี้คนพม่ามีธรรมเนียมจิบน้ำชาแกล้มเมี่ยงแกล้มถั่ว ติดหมากติดบุหรี่จนยากจะเลิก อีกทั้งยังหลงใหลรสชาติผงชูรส อาหารในพม่าจะพบเห็นเหมือนๆกันแทบทุกที่ จะหาของแปลกใหม่กินอย่างในเมืองไทยนั้นยังเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นหากจะไปใช้ชีวิตในพม่าก็ต้องปรับตัวปรับใจกันหน่อย แต่ถ้าชอบวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายพออยู่พอกิน มีอย่างไรก็กินอย่างนั้น พม่าก็เป็นแผ่นดินที่สนองเรื่องปากท้องได้อย่างไม่ขัดสนนัก