ข้อมูลเที่ยวอินเดีย : ข้อมูลทั่วไปของเมืองกังต็อก (Gangtok)
ข้อมูลทั่วไปของเมืองกังต็อก (Gangtok)
กังต็อก (Gangtok) : เมืองหลวงแห่งรัฐสิกขิม
กังต็อก : ในภาษาภูเทียร คำว่า “กัง” (Gang) หมายถึง ที่ราบ (flat) และคำว่า “ต็อก” (tok) หมายถึง เนินเขา (hill) กังต็อกจึงหมายถึง “ที่ราบที่อยู่บนเนินเขา” กังต็อกถือกำเนิดเกิดขึ้นราว ปี ค.ศ. 1716 ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ เท่านั้น จนกระทั่งได้มีการสร้างวัดเอนเซย์ (Enchey Monastery) ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1840 กังต็อกจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการแสวงบุญไปโดยปริยาย ต่อมาในปี ค.ศ. 1894 ธูทอบ นัมเกล (Thutob Namgyall) กษัตริย์ผู้ปกครองสิกขิมซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกที ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองทุมลอง (Tumlong) มาอยู่ที่เมืองกังต็อก (Gangtok) แทน นับแต่นั้นมา กังต็อกซึ่งมีบทบาทมากในฐานะเมืองหลวงแห่งสิกขิม (แม้ว่าภายหลังสิกขิมจะกลายเป็นรัฐที่ 22 ภายใต้การปกครองของอินเดีย กังต็อกก็ยังเป็นเมืองหลวงเช่นเดิม) กังต็อกประกอบด้วยชาวเนปาล ภูฏาน และชาวอินเดียเป็นส่วนใหญ่
สถานที่ที่น่าสนใจในเมืองกังต็อก
- วัดรุมเต็ก (Rumtek Monastery) หรือ ศูนย์ธรรมจักร (Dharmachakra Centre) เป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม เป็นวัดศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดในสิกขิม ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง 1,550 เมตร ห่างจากกังต็อก 24 กิโลเมตร
- ประวัติวัดรุมเต็ก
-วัดรุมเต็ก เดิมเคยเป็นวัดหลักของนิกายกากยู (Kagyu) สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 โดย การ์มาปา วังชุก ดอร์เจ ที่ 9 สำหรับใช้เป็นสถานที่พำนักอาศัยของผู้สืบเชื้อสาย Karma ในสิกขิม เมื่อตัววัดถูกทำลายลง พื้นที่จึงปล่อยทิ้งร้างไป จวบจนกระทั่งพระสังฆราชการ์มาปาที่ 16 ซึ่งเป็นชาวทิเบต ได้ลี้ภัยมายังสิกขิมในปี ค.ศ. 1959 เนื่องจากกองทัพจีนบุกไปยึดทิเบต
- พระองค์จึงตัดสินใจสร้างวัดรุมเต็กขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพื่อใช้เป็นที่พำนักในการลี้ภัยจากกองทัพจีน โดยได้รับความช่วยเหลือจากราชวงศ์ของสิกขิมและรัฐบาลอินเดีย ส่วนที่พระองค์เลือกบริเวณนี้ ก็เพราะสถานที่นี้มีลักษณะภูมิประเทศที่ดี เช่น มีลำธาร มีภูเขาอยู่ด้านหลัง มีภูเขาหิมะอยู่ด้านหน้า และมีแม่น้ำอยู่ด้านล่างนั่นเอง
- หลังจากใช้เวลานานถึง 4 ปี การก่อสร้างวัดรุมเต็กก็เสร็จสิ้น โดยถือเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุดที่ก่อสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของทิเบตเลยทีเดียว (ปัจจุบันเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในสิกขิม) หลังจากนั้นไม่นาน พระสังฆราช การ์มาปาที่ 16 ก็ได้สถาปนาวัดนี้เป็น “ศูนย์ธรรมจักร” (The Dharmachakra Center) เพื่อฝึกฝนและปฏิบัติตนของชาวพุทธรวมทั้งเผยแพร่ศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
- มีการขนสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระธาตุพระพุทธเจ้ามาจากวัด Tsurphu ใน ทิเบตมาประดิษฐานที่นี่ ในวันปีใหม่ของทิเบตในปี 1966 มีการสถาปนาวัดนี้ให้เป็นศูนย์กลางธรรมจักร ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของสิกขิม
- วัดรุมเต็กมีทั้งหมด 4 ส่วนได้แก่ Main Temple, The Golden Stupa, Benefits of Veneeration และ The Stupa Walkway (Koral)
- วิหารวัดรุมเต็ก (Main Temple) : ด้านในจะมีห้องบูชาที่ตกแต่งอย่างประณีต อีกทั้งยังมีธงผ้าไหม ผ้าทังก้า ภาพวาดทางศาสนา ต้นฉบับเกี่ยวกับคำสั่งสอนของศาสนา (Kangyur) ที่แปลจากภาษาสันสกฤต มาเป็นภาษาทิเบต และคำอธิบายเกี่ยวกับศีล (Tengyur) ทั้งหมด 255 เล่ม รวมถึงพระพุทธรูปสูง 10 ฟุต ที่ขนาบข้างไปด้วยพระสารีบุตรและพระโมคลัลลา อันเป็นพระอัครสาวกองค์สำคัญของพระพุทธเจ้า และบังลังก์ศักดิ์สิทธิ์ของ “เกลวา การ์มาปา” สำหรับให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหรือพระลามะผู้มีบุญนั่งด้วย
- สถูปทอง (Golden Stupa) : สถูปแห่งนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุล้ำค่าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากร่างของพระสังฆราช “เกลวา การ์มาปา ที่ 16” ปกติจะใช้ประกอบพิธีบูชาผู้สืบเชื้อสายมาจากพระสังฆราชของพวกเขา ซึ่งเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 (ห้ามถ่ายรูป)
- แท่งหินสลักคำสอนของพระพุทธเจ้า (Benefits of Veneration) : เป็นแท่งหินสลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ตรงกลางลานวัด
- เส้นทางแสวงบุญวัดรุมเต็ก (The Stupa Walkway) : เป็นเส้นทางแสวงบุญที่อยู่ด้านหลังกำแพงวัดรุมเต็ก ซึ่งจะมีสถูปสูง 35 ฟุต ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นการขจัดอุปสรรคในการกลับมาเกิดใหม่ของพระสังฆราชการ์มาปาที่ 16 ภายในมีต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือในสมัยโบราณและรูปสลักด้านหน้าของเทวดา Raksha Todtreng อยู่ ทั้งนี้ระหว่างทางก็จะธง 5 สี แขวนเรียงราย เพื่อสวดอ้อนวอนให้เกิดสันติภาพในโลก ความโชคดี ความเจริญ และ อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต
- สัญลักษณ์กงจักรและกวางสีทอง : ตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ขณะที่พระองค์กำลังนั่งสมาธิอยู่นั้น พระพรหมและพระอินทร์ก็ได้เสด็จลงมาหาพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระพุทธเจ้าสอนธรรมะให้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าจะหมุนวงล้อแห่งธรรมนี้ 3 ครั้ง ทว่าในเวลานั้นเอง ก็ได้มีกวาง 2 ตัว ปรากฎตัวขึ้นที่ป่าใกล้ๆ และจ้องมองมาที่วงล้อมนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการหมุนกงล้อแห่งธรรมในครั้งแรก จึงได้มีการสร้างวงล้อแห่งธรรมและกวาง 1 คู่อยู่บนหลังคาวัดทุกๆ วัด โดยกงล้อจะเป็นสัญลักษณ์คำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนกวางก็แทนพระพรหมและพระอินทร์ซึ่งเป็นผู้เรียนรู้ ทั้งนี้การตั้งท่าของกวางจะหมายถึง การรับฟัง ส่วนการจ้องมองจะหมายถึง การแสดงความสนใจในธรรมะ
- องค์พระสถูปโดดูร์ (Do-Drul Chorten) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2488 ถือว่าเป็นสุดยอดสถูปแห่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในอาณาจักรสิกขิม สร้างโดยพระมหาเถระตรุลศรี รินโปเช ประธานสงฆ์แห่งนิกายน์ญิงมาในพระพุทธศาสนามหายานในธิเบต ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน Nyingma เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดใน 4 โรงเรียนของพุทธศาสนาในทิเบต บริเวณรอบสถูปประกอบด้วย 108 วงล้อภาวนาที่พุทธศาสนิกาชนใช้หมุนไปพร้อมกับการสวดมนต์ โอม มณี ปัท เม ฮุม ซึ่งหมายถึงอัญมณีในดอกบัว
- องค์พระสถูปโดดูร์ : สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงชัยชนะของความดีที่มีต่อความชั่วร้ายทั้งปวง ถือเป็นพระสถูปเจดีย์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสิกขิม โดยด้านในบริเวณพระสถูปจะมีสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอยู่หลายอย่าง เช่น พระโพธิสัตว์ที่ทำด้วยเงิน หนังสือศักดิ์สิทธิ์ บทสวดมนต์ ภาพวาดทางศาสนา ภาพวาดทังก้า และเอกสารต้นฉบับลายมือสมัยโบราณที่เป็นภาษาสันสกฤต ทิเบต จีน และเลปซา (ประกอบไปด้วย Prajna Paramita และ Astasahastra ที่เขียนลงในต้นฉบับที่เป็นทองคำ ส่วน Saratama Prajnaparamita เป็นต้นฉบับที่เขียนลงไปในปาลม เมื่อศตวรรษที่ 11 โดย Ratnakara Shanti และ Prajana Paramita Sutra ที่เป็นต้นฉบับลายมือของจีนในศตวรรษที่ 12 ซึ่งนำมาจากเกาหลีใต้)
- สถาบันทิเบตวิทยาลัยนัมเกล (Namgyal Institute of Tibetology) : เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับศาสนาพุทธที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองกังต็อก และเป็นศูนย์กลางในการมอบทุนให้กับการศึกษาพระพุทธศาสนาที่สำคัญของโลกอีกด้วย ตั้งอยู่ในบริเวณที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้และมีอาณาเขตกว้างใหญ่ ใกล้ๆ กับสถาบันทิเบตนัมเกลจะเป็นสวนที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของสิกขิม โดยห้อมล้อมไปด้วยรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ที่สวยงามของ Chogyal Palden Thondup Namgyal
- เวลาเปิด-ปิด : สถาบันทิเบตวิทยาลัยนัมเกล ตั้งอยู่ในเดโอราลี (Deorali) ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองกังต็อก เปิดให้เข้าชมเวลา 10.00-16.00 น. ในวันจันทร์-เสาร์ ปิดวันอาทิตย์ วันเสาร์ที่สองของเดือน และวันหยุดราชการ
ค่าเข้าชม คนละ 5 รูปี และไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปด้านใน
- วัดเอนเซย์ (Enchey Monastery หรือ Enchey Gompa) : เป็นวัดพุทธที่เก่าแก่มีอายุประมาณ 200 ปี สร้างขึ้นโดยพระลามะชื่อ Drupthob Karpo โดยเริ่มแรกพระ Drupthob Karpo ได้สร้างกุฏิเล็กๆ ไว้ที่นี่ก่อน ต่อมาในระหว่างการปกครองของ Sikyong Tulku (ปี ค.ศ. 1909-1910) เขาจึงได้สร้างวัดนี้ขึ้นมา ตามลักษณะรูปทรงเจดีย์จีน
- วัดเอนเซย์ :จะมีพระประมาร 90 รูป และมีพิธีบวงสรวงประจำปี เทศกาลเตซู หรือ ระบำหน้ากาก Chaam ซึ่งถือเป็นงานเฉลิมฉลองในวันที่ 18 และ 19 ในเดือนที่ 12 ตามปฏิทินจันทรคติ (ประมาณช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม)
- เวลาเปิดให้บริการ : วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 06.00-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์
- กระเช้าลอยฟ้ากังต็อก (Gangtok Ropeway) : เป็นกระเช้าไฟฟ้านั่งชมเมืองกังต็อกแบบ 360 องศา เป็นกระเช้าขนาดใหญ่ บรรจุผู้โดยสารได้ถึง 24 คน และไม่มีที่นั่งให้ (มีแต่ตั๋วยืนอย่างเดียว) ซึ่งแต่ละกระเช้าก็จะมีเจ้าหน้าที่ประจำกระเช้าไปด้วยอีก 1 คน เพื่อคอยดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร ส่วนสถานีกระเช้าลอยฟ้าจะมีทั้งหมด 3 สถานีคือ สถานีแรกตลาดเดโอราลี (Deorali Market) เป็นสถานีแรกที่ขึ้นกระเช้า สถานีที่สองคือสถานีนัมนัง (Nam-Nang) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับ Sikkim Legistltive Assembly และสถานีสุดท้ายตาชิลิ (Tashiling) ที่อยู่ใต้ The Secretariat ซึ่งเป็นสถานีที่สูงที่สุด
- เวลาเปิด-ปิด : ตั้งแต่เวลา 09.30-17.00 น.
- จุดชมวิวตาชิ (Tachi Viewpoint) อยู่ห่างจากกังต็อกประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นเทือกเขากังเชงจุงก้าได้ชัดเจนที่สุดและสวยที่สุด รายล้อมด้วยเทือกเขาบริวารมากมาย เช่น ยอดเขาทาลุง ยอดเขาปานดิม เป็นต้น
- ซีโรพอยต์ (Zero Point) เป็นที่ตั้งของสำนักงานผู้อำนวยการด้านงานหัตถกรรมและงานทอผ้า (Directorate of Handicraft & Handloom) โดยที่นี่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุรักษ์และสนับสนุนส่งเสริมศิลปหัตถกรรมของชาวสิกขิมเอาไว้
- เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้บริการ วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 09.30-12.30 น. และ 13.00-15.00 น.