ข้อมูลเที่ยวศรีลังกา : เมืองอนุราธปุระ เมืองหลวงแห่งแรกของศรีลังกา

เมืองอนุราธปุระ เมืองหลวงแห่งแรกของศรีลังกา

เมืองอนุราธปุระ : เมืองหลวงแห่งแรกของศรีลังกา ถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนา ห่างจากกรุงโคลัมโบ ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 206 กิโลเมตร
ประวัติความเป็นมาของเมืองอนุราธปุระ : ชาวสิงหลได้อพยพมาจากประเทศอินเดียตอนเหนือมาอยู่ที่เกาะลังกา เมื่อประมาณ 543 ปีก่อนคริสตกาล ตามพงศาวดารคัมภีร์มหาวงศ์ เล่าไว้ว่า เจ้าชายวิชัย โอรสของพระเจ้าสีหพาหุ ผู้ครองนครสีหบุรีรัตนราชธานี มีความประพฤติเกกมะเหรกเกเร ซ่องสุมอันธพาลก่อความเดือดร้อนในแผ่นดิน เมื่อพระราชบิดาทรงทราบได้ทรงเนรเทศเจ้าชายวิชัยและบริวารออกไปจากราชธานี โดยจับโกนศีรษะครึ่งหนึ่งแล้วใส่เรือปล่อยไปในทะเล และเรือลำนั้นได้ไปถึงเกาะลังกา กล่าวกันว่า วันที่เจ้าชายวิชัยถึงเกาะลังกาเป็นวันเดียวกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เมื่อมาถึงลังกา เจ้าชายวิชัยพบว่า ณ เกาะแห่งนี้เป็นดินแดนของพวกยักษ์ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นชนพื้นเมืองที่อยู่บนเกาะ พระองค์เลยทรงผูกมิตรกับนางกุเวนิ บุตรสาวหัวหน้ายักษ์ ได้นางเป็นชายา ในที่สุดนางกุเวนิได้มีส่วนช่วยพระองค์ปราบปรามยักษ์จนอยู่ในอำนาจ จากนั้นเจ้าชายวิชัยทรงส่งบริวารของพระองค์แยกย้ายกันออกไปสร้างเมืองต่าง ๆ ตามชื่อของบริวารนั้นๆ ได้แก่ อุปติสสคาม อนุราธคาม อุเชนิคาม อุรุเวลคาม และวิชิตคาม เป็นต้น เมื่อเจ้าชายวิชัยมิได้สถาปนา พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ในเบื้องแรก เพราะยังทรงหาพระราชินีมาร่วมราชบัลลังก์ยังไม่ได้ ต่อมามีพระราชสาส์นไปขอเจ้าหญิงราชธิดาของพระเจ้าปัณฑราชแห่งเมืองมถุรา ที่อินเดียตอนใต้ พระเจ้าปัณฑราชไม่ขัดข้อง ทรงส่งพระราชธิดา กุลสตรีมีตระกูล 100 นาง และชาวเมืองมถุรา 1,000 ครอบครัว เดินทางมาเกาะลังกาเพื่อมาตั้งถิ่นฐานในเมืองใหม่ คนเหล่านี้ก็ได้มาแต่งงานกับข้าราชบริพารของเจ้าชายวิชัย มีลูกหลานสืบต่อกันมา เรียกว่า “ชาวสิงหล” เมื่อเจ้าชายวิชัยได้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาพระเจ้าปัณฑราชแล้ว ได้สถาปนาพระองค์เองเป็นพระมหาษัตริย์ปกครองบ้านเมืองต่อมา แต่ไม่ทรงมีพระราชโอรสสืบต่อพระราชบัลลังก์เลย จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปทูลเชิญเจ้าชายสุมิตรพระอนุชาของพระองค์ที่เมืองสีหบุรีรัตน์มาครองราชย์สืบแทน เจ้าชายสุมิตรทรงส่งพระราชโอรสองค์เล็กคือ เจ้าชายปัณฑวาสุเทวะ พร้อมข้าราชบริการมายังเกาะลังกา เจ้าชายปัณฑสุเทวะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงภัทธกัจจายะ เจ้าหญิงเผ่าอารยันจากอินเดีย มีพระราชโอรสและพระราชธิดา 11 พระองค์ เมื่อพระเจ้าปัณฑวาสุเทวะเสด็จสวรรคต เจ้าชายอภัย พระราชโอรสองค์ใหญ่ได้ครองราชย์สืบต่อมา เจ้าชายอภัยมีพระขนิษฐาองค์สุดท้องคือเจ้าหญิงจิตรกุมารี ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายฑีฑามนี พระโอรสของพระปิตุลา ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระนางภัทธกัจจายะ มีพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ เจ้าชายปัณฑุกาภัย พระเจ้าอภัยทรงมีพระเมตตาต่อเจ้าหญิงจิตรกุมารีและเจ้าชายปัณฑุกาภัย พระนัดดามาโดยตลอด แม้ว่าโหราจารย์ได้ทำนายไว้ว่าพระโอรสของเจ้าหญิงจิตรกุมารีจะปลงพระชนม์พระปิตุลาทุกพระองค์ ฝ่ายพระอนุชาอีก 9 องค์ของพระเจ้าอภัย ทรงเชื่อคำทำนายของโหราจารย์ จึงเกลียดชังเจ้าชายปัณฑุกาภัยยิ่งนัก วางแผนกำจัดพระนัดดาให้สิ้นพระชนม์ไป ก่อนที่พวกพระองค์จะโดนปลงพระชนม์ตามคำทำนายของโหราจารย์ ปรากฎว่าเจ้าชายปัณฑุกาภัยเอาพระชนม์ชีพรอดมาได้ทุกครั้ง เกิดความแค้นเคืองฝังแน่นในพระอุระ จึงได้พยายามฝึกฝนวิทยายุทธ์ต่างๆ และซ่องสุมชายฉกรรจ์จนมีกำลังมาก ความทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าอภัย แทนที่พระองค์จะทรงระแวงภัย กลับเข้าข้างพระนัดดา ทำให้พระอนุชาไม่พอพระทัยมาก ในที่สุดก็ทรงรวมกันบังคับให้พระเจ้าอภัยสละราชสมบัติให้เจ้าชายดิศราชกุมารพระอนุชาองค์ถัดมา เจ้าชายปัณฑุกาภัยจึงใช้โอกาสนี้ประกาศสงครามกับพระปิตุลาทั้งเก้า พระปิตุลาทั้งเก้าสิ้นพระชนม์ในการรบ เหลือเพียงพระเจ้าอภัยพระองค์เดียวที่ไม่ได้โดนปลงพระชนม์ เมื่อเจ้าชายปัณฑุกาภัยได้ชัยชนะ ในปีพ.ศ.105 พระเจ้าปัณฑถุกาภัยก็ทรงย้ายไปตั้งเมืองหลวงที่อนุราธคาม ซึ่งกลายมาเป็นเมืองอนุราธปุระตั้งแต่นั้นมา ต่อมาทรงสถาปนาเป็นราชธานี ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงสุวรรณบาลีขัตติยา ทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 4 ของศรีลังกา การปกครองในรัชกาลเจ้าชายปัณฑุกาภัยนี้ จัดเป็นยุครุ่งเรืองในประวัติศาสตร์ศรีลังกา เป็นการปกครองด้วยระบบเทศบาล การก่อสร้างเจริญก้าวหน้า สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำได้ในสมัยนี้ ในปีพ.ศ.1376-1396 เป็นรัชกาลของพระเจ้าเสนะที่ 1 ในรัชกาลนี้เอง กองทัพราชวงศ์ปาณฑยะจากอินเดียตอนใต้ ก็เคลื่อนกำลังเข้ามารุกรานลังกา ยึดภาคเหนือไว้ได้ทั้งหมด เมืองอนุราธปุระถูกปล้นสะดมยับเยิน พระเจ้าเสนะต้องอพยพไปประทับที่เมืองโปลอนนารุวะจนสิ้นรัชกาล ในปีพ.ศ. 1476 เมืองอนุราธปุระถูกทำลายพินาศถึงกาลอวสาน ชาวสิงหลต้องถอยร่นไปทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เมืองโปโลนนารุวะ

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ