รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว : ชาวญี่ปุ่นเขาทำอะไรในวันปีใหม่

รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว : ชาวญี่ปุ่นเขาทำอะไรในวันปีใหม่
 

 ก่อนถึงวันที่ 1 มกราคม อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ ซี่งแม้ว่าอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างตามวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น แต่ประเพณีที่มักจะพบเห็นได้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วประเทศญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ประกอบด้วย 
1. การประดับสิ่งสักการะเทพเจ้า
ปกติจะกระทำให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี ซึ่งประกอบด้วย
-Kado matsu หรือ Matsu kazariคือ ซุ้มสนสำหรับประดับที่ประตูรั้วบ้าน ซึ่งในสมัยโบราณจะสร้างจากไม้สนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันนิยมทำจากไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมเป็นแกน ประดับด้วยใบสน ใบเฟิร์น ฟางข้าว และสิ่งมงคลต่างๆ ถือเป็นสิ่งสักการะที่มีราคาสูง โดยจะประดับเป็นคู่ ที่ด้านซ้ายและด้านขวาของประตูรั้ว หรือประตูทางเข้าบริษัท ห้างร้าน หรือบ้านของบุคคลที่มีฐานะดีแต่สำหรับประชาชนคนธรรมดา จะประดับสิ่งสักการะที่มีราคาย่อมเยาว์และขนาดเล็กกว่า เรียกว่า Shime kazari หรือ Wa kazari จำนวน 1 ชิ้นแทนชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า Kado matsu หรือ Matsu kazari จะไล่ความเลวร้ายต่างๆ ที่จะเข้ามาในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Kado matsu ซึ่งทำจากไม้ไผ่ อันถือเป็นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ในการอัญเชิญเทพเจ้าให้มาปัดเป่าผองภัยการประดับ Kado matsu จะประดับให้เสร็จสิ้นก่อนวันสิ้นปี ยกเว้นวันที่ 29 และวันที่ 31 ธันวาคม เนื่องจากเลข 9 อ่านออกเสียงว่า ku ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า kurou ซึ่งหมายความทุกข์ ส่วนวันที่ 31 ก็จะมีเวลากระชั้นเกินไป อันเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อพระเจ้า ดังนั้น จึงมักจะประดับให้เสร็จในวันที่ 26, 27, 28 หรือ 30 ธันวาคม
-Shime nawaShime nawa
เป็นเชือกที่ถักจากฟางข้าว ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเป็นเส้นแบ่งเขตแดนสวรรค์อันเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้ากับโลกภายล่าง โดยจะปล่อยปลายเชือกฟางให้ห้อยลงเป็นจำนวน 3 หรือ 5 หรือ 7 เส้นในวันขึ้นปีใหม่ ตามศาลเจ้าจะประดับ Shime nawa ขนาดใหญ่ ส่วนตามบ้านของชาวญี่ปุ่นก็จะประดับ Shime kazari ซึ่งมีขนาดเล็กย่อส่วนนี้ ไว้ที่ประตูทางเข้าเรือนหรือเหนือประตูเข้าเรือน เพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายของปีเก่า และเป็นยันต์ป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายต่างๆเข้ามาแผ้วพานในบริเวณบ้านพักการประดับ Shime kazari นี้ ปกติจะประดับล่วงหน้าก่อนวันสิ้นปี เพื่อเป็นความหมายว่ามีการเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้วที่จะอัญเชิญเทพเจ้าให้ลงมาปัดเป่าความชั่วร้ายได้ตลอดเวลา
-Kagami mochiKagami mochi
เป็นแป้งโมจิที่ปั้นเป็นรูปทรงกลมแบนสำหรับสักการะเทพเจ้า ซึ่งนอกจากจะใช้ในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่แล้ว ยังถือเป็นเครื่องสักการะเทพเจ้าในเทศกาลอื่นๆได้อีกด้วยคำว่า Kagami มีความหมายว่า กระจกส่องหน้า ซึ่งในอดีตจะมีรูปทรงกลม และถือว่าเป็นของที่มีฤทธิ์เดชอาคมสูง จึงสันนิษฐานว่า คำว่า Kagamimochi นี้ น่าจะมาจากการปั้นแป้งโมจิให้เป็นรูปทรงกลมแบนเช่นเดียวกับกระจกนั่นเองในวันขึ้นปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นจะนำ Kagami mochi ขึ้นวางบนหิ้งเพื่อสักการะบูชาเทพเจ้า เพื่อขอพรให้มีอายุยืนยาว จากนั้นเมื่อถึงวันที่ 11 มกราคม อันเป็นวัน Kagami biraki ชาวญี่ปุ่นก็จะนำโมจิซึ่งแห้งแข็งนั้นลงจากหิ้ง จากนั้นใช้ค้อนทุบหรือใช้มือหักเป็นชิ้นเล็กๆ แต่จะต้องไม่ใช้มีดกรีด แล้วนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน ตามความเชื่อว่าจะช่วยยืดอายุให้ยืนยาว

 


2. การรับประทานอาหารสิริมงคลในเทศกาลปีใหม่
-Osechi มีความหมายว่า "ช่วงที่เปลี่ยนฤดู" Osechi ryouri จึงหมายถึงอาหารที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสักการะเทพเจ้าในเทศกาลเปลี่ยนฤดู ซึ่งในสมัยเอโดะเคยกำหนดไว้ปีละ 5 ครั้ง และเมื่อเสร็จพิธี ชาวบ้านก็จะนำมาเลี้ยงฉลองและแบ่งปันกันทาน แต่ปัจจุบัน Osechi ryouri จะหมายถึงอาหารที่ชาวญี่ปุ่นจัดทำขึ้นเพื่อรับประทานกันภายในครอบครัวในช่วงเทศกาลวันปีใหม่เท่านั้น ตามความเชื่อแต่โบราณว่าเป็นการต่ออายุให้ยืนยาวเช่นเดียวกับ Kagami mochi
ตามปกติ Osechi ryouri จะเป็นอาหารที่เก็บไว้ทานได้นานหลายวัน ตามความเชื่อที่ว่าในช่วงที่อัญเชิญเทพเจ้ามารับเครื่องเซ่นไหว้สักการะนี้ ไม่ควรเข้าครัวเพื่อทำอาหารให้เป็นที่อึกทึกครึกโครม และอีกอย่างหนึ่งคือ เพื่อให้แม่บ้านได้มีเวลาหยุดพักอย่างน้อยที่สุดก็ประมาณ 3 วัน ภายหลังจากที่ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการทำอาหารมาตลอดทั้งปี
-Osechi ryouri จะประกอบด้วยอาหารหลายชนิด แต่อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีของหลักอยู่ 3 ชนิด อันเป็นของพื้นบ้าน ซึ่งกำหนดมาตั้งแต่สมัยตระกูล Tokugawa ปกครองประเทศ เพื่อไม่ให้ประชาชนใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟื้อเกินไป นั่นก็คือ ถั่วดำเชื่อม ไข่ปลาเฮริงหมักเกลือ และลูกปลาซาร์ดีนตากแห้ง ส่วนในเขตคันไซ คือแถบเมืองเกียวโตและโอซากา จะกำหนดอาหารหลัก 3 ชนิด คือ ถั่วดำเชื่อม ไข่ปลาเฮริงหมักเกลือ และรากหญ้าเบอร์ดอคปรุงรสอาหารใน Osechi ryouri แต่ละชนิด จะเป็นอาหารที่มีความหมายอันเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น ดังนี้
-Kuro mame หรือ ถั่วดำ
mame นอกจากจะแปลว่า "ถั่ว" แล้ว ยังเป็นคำพ้องเสียงที่มีความหมายว่า "ร่างกายแข็งแรง" หรือ "สุขภาพดี" อีกด้วย จึงเป็นอาหารมีความหมายเป็นสิริมงคล โดยจะนำถั่วดำไปต้มหวานและเคี่ยวจนน้ำแห้ง
-Kazu no ko หรือ ไข่ปลาเฮอรี่
ปลาเฮอรี่เป็นปลาที่วางไข่เป็นจำนวนมาก มีความหมายเป็นมงคลในการมีบุตรหลานสืบตระกูลต่อไป โดยจะนำไข่ปลาที่หมักเกลือไปแช่น้ำให้คลายความเค็ม และหมักในน้ำต้มเนื้อปลาทูน่าแห้ง เพื่อเพิ่มรสชาติ หรือบางครั้งก็จะรับประทานในสภาพหมักเกลือโดยตรง
-Gomame หรือ ลูกปลาซาร์ดีนตากแห้ง
ซึ่งเขียนด้วยตัวคันจิว่า 五万米 แปลตามตัวอักษรคือ ข้าว 5 หมื่น จึงถือเป็นสิ่งมงคลเพื่อขอพรให้เพาะปลูกพืชไร่ได้ผลอุดมสมบูรณ์ โดยลูกปลาตากแห้งนี้จะนำมาปรุงรสเค็มหวานด้วยน้ำตาลและโชยุ แล้วโรยงาเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม
-Tataki gobou หรือ รากหญ้าเบอร์ดอคทุบ
หญ้าเบอร์ดอค เป็นพืชที่มีลำต้นสูง และมีรากปักตรงลึกลงไปในพื้นดิน จึงเป็นพืชที่มีรากฐานมั่นคงแข็งแรง ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นสิ่งมงคลเพื่อขอให้ผลิตผลการเกษตรอุดมสมบูรณ์ มีชีวิตที่เข้มแข็งปราศจากโรคภัย และครอบครัวมีรากฐานที่มั่นคง ในการปรุงอาหาร จะนำรากหญ้าเบอร์ดอคไปนึ่งและทุบให้นิ่ม จากนั้นจึงผ่าแบะออก ซึ่งถือเป็นเคล็ดเสมือนเป็นการ "เปิดโชค"
-Kinton หรือ ก้อนทองคำ
เป็นเนื้อเกาลัดนึ่งและบดผสมกับถั่วลันเตาบดและมันฝรั่งบด และปั้นเป็นลูกกลมๆ มีสีเหลืองสวย เปรียบเสมือนทองคำ อันเป็นสิริมงคลขอให้มีฐานะร่ำรวย
-Kamaboko หรือ เนื้อปลาบดอัดแท่ง
ซึ่งเมื่อหั่นเป็นแว่น รอบนอกก็จะเป็นสีแดง ส่วนเนื้อในจะเป็นสีขาว จึงเปรียบเสมือนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นมงคลในการฉลองวันขึ้นปีใหม่ และนอกจากนี้ สีแดงและสีขาวยังถือเป็นสีศักดิ์สิทธิ์ในการขับไล่ภูตผีปีศาจ และเป็นสีแห่งการเฉลิมฉลองอีกด้วย
-Ebi หรือ กุ้ง
เป็นอาหารมงคล เนื่องจากสภาพของกุ้งที่มีลำตัวงอ จึงเปรียบกับการขอให้มีอายุยืนยาวจนหลังคุ้มงอ
-Tai หรือ ปลาตะเพียนทะเล
ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า Medetai ซึ่งมีความหมายว่า "ความสุข" อีกทั้งยังมีปลาตะเพียนทะเลยังมีสีแดง อันเป็นสีมงคล จึงเป็นสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ในงานมงคลต่างๆ
Kobu maki หรือสาหร่ายม้วน
Kobu หรือ Konbu คือสาหร่ายทะเล ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า Yorokobu ซึ่งแปลว่า "ยินดี" จึงเป็นอาหารมงคลเพื่อขอพรให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุมั่นขวัญยืน
3. การไปนมัสการศาลเจ้า
Hatsu moude คือ การไปนมัสการศาลเจ้าในครั้งแรกของรอบปี ซึ่งตามปกติ ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไปนมัสการศาลเจ้าภายในวันที่ 3 มกราคม ของปีนั้นๆ เพื่อความเป็นศิริมงคลและให้เทพเจ้าคุ้มครอง แต่ปัจจุบัน เนื่องจากการวัฒนธรรมการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไป คือ ชาวญี่ปุ่นจะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศในวันหยุดช่วงวันขึ้นปีใหม่เพิ่มขึ้น การไปนมัสการศาลเจ้าครั้งแรกในรอบปี จึงชะลอไปถึงวันที่ 7 มกราคม หรือ 15 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ถอด Matsu kazari ออก ตามธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่นนั้นๆเมื่อเดินทางไปถึงศาลเจ้า และอยู่หน้ากล่องถวายเงินซึ่งตั้งอยู่หน้าศาลเจ้า ชาวญี่ปุ่นมีธรรมเนียมในการสักการะและขอพรจากเทพเจ้า โดยแยกได้เป็น 6 ขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้
1.โยนเหรียญใส่กล่องถวายเงินเป็นขั้นตอนเพื่ออัญเชิญเทพเจ้าที่สถิตย์อยู่บนโลกมนุษย์ให้มารับการสักการะ
2.สั่นกระดิ่งข้างหน้ากล่องถวายเงิน จะมีเชือกถักเส้นใหญ่ซึ่งมีกระดิ่งแขวนติดอยู่ ห้อยลงมาจากขื่อคานของศาลเจ้า ให้โยกเชือกดังกล่าวเพื่อสั่นกระดิ่ง อันเป็นขั้นตอนเพื่ออัญเชิญเทพเจ้าที่สถิตย์อยู่บนสรวงสวรรค์ให้ลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อรับการสักการะ
3.โค้งคำนับ 2 ครั้งเป็นขั้นตอนคารวะเทพเจ้าจากฟ้าและดินที่ได้อัญเชิญมา
4.พนมมือและขอพรขัั้นตอนนี้คงถือได้ว่า เป็นขั้นตอนและวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุด ในการเดินทางมานมัสการที่ศาลเจ้าเมื่อสักการะเทพเจ้าที่อัญเชิญมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ขอพรจากเทพเจ้า ซึ่งคนส่วนใหญ่จะอธิษฐานขอพรในใจ แต่หากจะกล่าวขอพรออกมาเป็นคำพูดก็ไม่น่าจะผิดธรรมเนียมแต่อย่างใด แต่จะต้องอยู่ในอาการคารวะและสำรวม
การขอพรจากเทพเจ้า ควรขอพรให้ชัดเจน ไม่ใช่ขอพรแบบกำกวมหรือเป็นนามธรรมเกินไป เช่น การขอพรว่า "ขอให้มีความสุข" ย่อมไม่ใช่วิธีการขอพรที่ดี เพราะเทพเจ้าเองก็อาจจะไม่ทราบว่า "ความสุข" ที่คุณหมายถึงนั้น คือความสุขในระดับใดดังนั้น จึงไม่ต้องเหนียมอายที่จะขอพร แต่ควรขอพรอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา เช่น "ขอให้ได้แต่งงานกับคุณ .... ที่ยืนอยู่ข้างๆ" หรือ "ขอให้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ... ได้" เป็นต้น
5.ปรบมือ 2 ครั้งเป็นขั้นตอนแสดงความคารวะเทพเจ้าที่ได้มารับฟังสิ่งที่เราขอพร และขออัญเชิญให้กลับไปสถิตย์ยังที่เดิม
6.โค้งคำนับ 1 ครั้งเป็นการแสดงการคารวะต่อศาลเจ้าอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารถึงเทพเจ้าได้นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นที่ไปนมัสการศาลเจ้าในวันขึ้นปีใหม่ มักจะนิยมเสี่ยงเซียมซีใบเซียมซีจะทำนายโชคไว้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับ Dai kichi (โชคดีที่สุด) ไปจนถึงระดับ Dai kyou (โชคร้ายที่สุด) ซึ่งศาลเจ้าแต่ละแห่ง อาจจะแบ่งลำดับความโชคดีโชคร้ายนี้ไว้แตกต่างกัน เช่น แบ่งเป็น 5 ระดับ หรือ 7 ระดับ หรือ 12 ระดับ ก็มี

 

นอกจากนี้ ในใบเซียมซีจะทำนายถึงเรื่องอื่นๆ ได้แก่ สุขภาพ ชีวิตครอบครัว หน้าที่การงาน ทรัพย์สมบัติ ความรัก หรือการเดินทาง รวมอยู่ด้วยใบเซียมซีถือเป็นวาจาอันศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า ควรจะต้องพกติดตัวตลอดเวลา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ไม่ว่าคำทำนายนั้นจะออกมาดีหรือไม่ก็ตาม จากนั้นจึงค่อยนำมาคืน เมื่อย้อนกลับมานมัสการที่ศาลเจ้าอีกครั้งหนึ่งในภายหลัง หรือหากคำทำนายออกมาไม่ดี จะผูกทิ้งไว้ที่ศาลเจ้า โดยไม่นำติดตัวกลับไปก็ได้แต่ในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ศาลเจ้าบางแห่งก็อาจจะไม่ใส่ใบเซียมซีที่เป็นเรื่องโชคร้ายไว้ในกล่องเซียมซีนั้นก็ได้EmaEmaนอกจากการเสี่ยงเซียมซีแล้ว ชาวญี่ปุ่นจะเขียนขอพรบนป้ายแผ่นไม้รูปทรงหลังคา ซึ่งเรียกว่า Ema และผูกติดไว้ที่ศาลเจ้าHamayaHamayaและมักซื้อ Hamaya หรือธนูปราบมาร และเครื่องลางต่างๆ ซึ่งศาลเจ้าแต่ละแห่งจะจัดเตรียมไว้มากมายหลายชนิด เช่น หรือขอให้แคล้วคลาดจากอุบัติภัย ขอให้สอบได้ ขอให้คลอดบุตรปลอดภัย ฯลฯ กลับไปเพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วยประเพณีต่างๆ ข้างต้นในวันขึ้นปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น ล้วนมีพื้นฐานจากความเชื่อแต่โบราณว่า เป็นวันที่จะอัญเชิญเทพเจ้าให้มาปัดเป่าความชั่วร้ายให้หมดไปจากชีวิต เพื่อต่ออายุและสุขขะพลานามัย ซึ่งประเพณีปฏิบัตินี้แม้ว่าปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตกาลเมื่อหลายร้อยปีก่อนไปบ้าง แต่ก็ยังดำรงรักษาสืบเนื่องต่อมา และเป็นที่เชื่อว่า ชาวญี่ปุ่นจะยังคงรักษาประเพณีปฏิบัติเหล่านี้สืบต่อไปในอนาคต แม้ว่าอารยธรรมตะวันตกหรือเทคโนโลยีล้ำสมัยจะเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นมากขึ้นกว่านี้เพียงใดก็ตาม

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ