ข้อมูลเที่ยวจีน : วังแดง หรือ หงกง Potala Palace, Lhasa

วังแดง หรือ หงกง Potala Palace, Lhasa
วังแดงถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1690 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานสถูป ที่ใช้เก็บพระศพของทะไลลามะ องค์ที่ 5 ซึ่งต่อมาได้ประดิษฐ์ฐานสถูปของทะไลลามะองค์ต่อๆ มาอีกหลายพระองค์ แต่วังแดงหรือหงกง ก็มีส่วนที่เป็นสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมมาตั้งแต่ศตวรรษที่7 นั่นคือตำหนักโพธิสัตว์กวนอิม และคูหาธรรมราชา ตำหนักหรือห้องหอที่ใหญ่ที่สุดของวังแดง มีชื่ออย่างย่อว่า "ซีต้าเตี้ยน" แปลว่าตำหนักใหญ่ปิจฉิมทิศ หรือตำหนักใหญ่ทิศตะวันตก ออกเสียงแบบทิเบตว่า "โช่ชินหนู่ ซือซีผิงโช่" ตำหนักนี้ถือเป็นอนุสรณ์ของทะไลลามะองค์ที่ 5 มีเนื้อที่ราว 725 ตารางเมตร มีเสาขนาดใหญ่ค้ำยันถึง 44 ต้น ผนังทั้งสี่ด้าน มีภาพเขียนชีวประวัติของทะไลลามะองค์ที่ 5 ที่เด่นเป็นพิเศษ คือภาพหนึ่งทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นภาพที่องค์ทะไลลามะเข้าเฝ้าองค์ซุ่นจื้อ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิง ตรงกลางตำหนักมีพระที่นั่งขององค์ทะไลลามะอยู่ ซึ่งเป็นที่ประทับเดียวกับที่ชางยางเจียโช่ ทะไลลามะองค์ที่ 6 ซึ่งเป็นองค์เดียวที่ไม่มีสถูปอยู่ในวังโปตาลา เสด็จขึ้นรับตำแหน่งทะไลลามะของทิเบต เมื่อปี ค.ศ. 1697 ด้านบนของพระที่นั่ง แขวนแผ่นป้ายขนาดใหญ่ มีอักษรจีน 4 คำ ซึ่งเป็นอักษรพระราชทานจากจักรพรรดิเฉียนหลง เขียนไว้ว่า “หย่งเหลียนชูตี้” มีความหมายว่า แหล่งกำเนิดแห่งดอกบัว สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งในวังแดงนี้คือ ม่านประดับทำจากผ้าต่วนหลากสี และเย็บปักถักร้อยด้วยเส้นด้ายทองคำ เล่ากันว่าในสมัยนั้น จักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิงถึงกับให้สร้างโรงงานตัดเย็บผ้าม่านดังกล่าวขึ้นมาหนึ่งหลัง ใช้เวลาประดิษฐ์นานกว่าหนึ่งปีจึงแล้วเสร็จ แล้วพระราชทานม่านประดับชุดนี้มาเป็นของขวัญ เพื่อเฉลิมฉลองการสร้างวังแดง ในปี ค.ศ. 1696

ห้องประดิษฐานสถูปของทะไลลามะ พระศพขององค์ทะไลลามะทุกพระองค์ ไม่ได้ประกอบฌาปนกิจ จึงไม่มีอัฐิให้บรรจุ แต่พระศพของพระทะไลลามะ ต้องได้รับการปฏิบัติแบบถ่าจั้งหรือฝังในเจดีย์ ซึ่งเป็นประเพณีที่พิเศษของชาวทิเบต เฉพาะองค์ทะไลลามะหรือพระลามะที่เสมือนสมมุติเทพเท่านั้นที่จะทำพิธิถ่าจั้งได้ สถูปที่บรรจุพระศพขององค์ทะไลลามะในวังแดงนั้น มีอยู่ด้วยกัน 8 องค์ คือ ตั้งแต่องค์ที่ 5 ถึงองค์ที่ 13 เว้นเฉพาะองค์ที่ 6 ทั้งนี้เนื่องจากองค์ที่ 6 ถูกตราหน้าว่าเป็นของปลอม จึงถูกขับออกจากวังโปตาลา เสียก่อน คูหาธรรมราชา หรือ ฝ่าหวางต้ง เป็นหนึ่งในสองสถานที่ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างแรกเริ่มของวังโปตาลา ห้องนี้เป็นห้องขนาดเล็ก เนื้อที่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร เป็นสถานที่กษัตริย์ซงจั้นกันปู้ ใช้นั่งวิปัสสนาศึกษาธรรมะ ที่นำเข้ามาสู่ทิเบตโดยองค์หญิงจากจีนและเนปาล ภายในคูหาแห่งนี้ นอกจากรูปเหมือนของกษัตริย์ซงจั้นกันปูแล้ว ยังมีรูปเหมือนของมเหสีชาวทิเบต อัครเทวีของเนปาลและจีน ทั้งยังมีรูปเหมือนของราชฑูตลู่ตงจั้น และอำมาตย์นักปราชญ์ทุนหมี่ซังปู้จา ผู้ประดิษฐ์อักษรทิเบตอีกด้วย ตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิม หรือเสิ้งกวนอิมเตี้ยน มีความหมายว่า ตำหนักพระพุทธที่เหนือธรรมดา เหนือประตูทางเข้าตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิม มีแผ่นป้ายที่พระราชทาน โดยกษัตริย์ถงจื้อแห่งราชวงศ์ชิง เขียนด้วยภาษาทิเบตและจีน อักษรจีน 4 คำนั้นเขียนว่า “ฝูเถียนเมี่ยวกั่ว” แปลว่า ผืนนาอันอุดมสมบูรณ์นำมาซึ่งพืชผลที่งดงาม ในตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิมนี้ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวทิเบตนับถือมากอยู่สิ่งหนึ่ง คือรูปพระโพธิสัตว์ที่เป็นไม้จันทร์หอม อายุพันกว่าปี โดยชาวทิเบตเชื่อว่า เป็นเทพประจำกายของกษัตริย์ซงจั้นกันปู้ และเป็นเทวรูปที่เกิดขึ้นเอง ไม่มีใครทำขึ้น รวมทั้งมีตำนานความเป็นมาที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง นอกจากนี้ ในตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิม ยังมีรูปพระแม่กวนอิมพันกรพันเนตร รูปเหมือนพระอาจารย์เจ้าจงคาปา ซึ่งล้วนแต่เป็นสมบัติล้ำค่าเคียงคู่กับประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาวทิเบต ตำหนักพิภพอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ ซ่าซงหล่างเจี๋ยเตี้ยน อยู่บนชั้นสุดตรงกึ่งกลางของวังแดง สร้างในสมัยพระทะไลลามะองค์ที่ 7 เป็นห้องที่เคยใช้ประกอบพิธีสำคัญๆ ทั้งทางศาสนาและการเมืองมาโดยตลอด เช่นพิธีเสี่ยงทายคัดเลือกองค์ทะไลลามะหรือองค์ปันเชนลามะขั้นสุดท้ายที่เรียกว่า พิธีจินผิงเช่อเชียน องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ 11 หน้า สูงราว 3 เมตร สร้างจากเงินบริสุทธิ์ กว่าหนึ่งหมื่นตำลึง สร้างในปีค.ศ. 1903 โดยทะไลลามะองค์ที่ 13 พระพักตร์ขององค์พระปิดทองเหลืองอร่าม

ทัวร์แนะนำ ที่คุณอาจจะสนใจ