ข้อมูลเที่ยวออสเตรเลีย : อุทยานแห่งชาติคาคาดู (Kakadu National Park)
ข้อมูลเที่ยวออสเตรเลีย : อุทยานแห่งชาติคาคาดู (Kakadu National Park)
อุทยานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำอัลลิเกเตอร์ในรัฐนอร์ทเทิร์นเทอริทอรี (Northern Territory) ของออสเตรเลีย โดยอยู่ห่างจากเมืองดาร์วินไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 191 กิโลเมตร โดยชื่อ คาคาดู kakadu มาจากคำว่า กาอากูดจู (Gaagudju) ในภาษาอะบอริจิน ซึ่งชนพื้นเมืองเหล่านี้ได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อสี่หมื่นปีก่อน อุทยานแห่งชาติคาคาดู (Kakadu National Park) ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยาน เมื่อวันที่ 5 เมษายน ปี ค.ศ.1979 มีเนื้อที่ 19,804 ตาราง.กม. ยาวจากเหนือจรดใต้ 200 กิโลเมตรและกว้างจากตะวันออกจรดตะวันตก 100 กิโลเมตร นอกจากนี้ในพื้นที่ของอุทยานยังเป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ยูเรเนียมชื่อเหมืองเรนเจอร์ซึ่งเป็นเหมืองที่ให้ผลผลิตแร่มากที่สุดในโลก
คาคาดู kakadu เป็นสถานที่ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านระบบนิเวศน์และสิ่งมีชีวิต โดยพื้นที่ของอุทยานประกอบด้วยป่าเขตร้อน ทุ่งหญ้า บึงน้ำ ที่ราบน้ำท่วมถึง ภูเขาหิน ที่ราบลุ่มและเนินเขา ทั้งยังมีพันธุ์พืชและสัตว์ชนิดต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก โดยสภาพอากาศที่นี่ประกอบด้วยสองฤดูกาลหลัก คือ ฤดูแล้งกับฤดูฝน โดยฤดูแล้งจะเริ่มราวเดือนเมษายนถึงกันยายน จากนั้นจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างฤดูซึ่งจะมีสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวนโดยอุณหภูมิและความชื้นในอากาศของช่วงดังกล่าวค่อนข้างสูง ทั้งยังมีพายุเกิดขึ้นเป็นระยะ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงของฤดูฝนซึ่งจะเริ่มตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน ซึ่งในฤดูฝนนี่เองที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของคาคาดู kakadu จะแปรสภาพเป็นบึงและทุ่งหญ้ากึ่งทะเลสาป
ที่นี่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งพวกมาซูเพียล (พวกมีกระเป๋าหน้าท้อง) และพลาเซนทัล (พวกมีรก) รวมกว่า 60 ชนิด เช่น วอลลาบีภูเขาหูสั้น จิงโจ้แอนทีโลป วอลลารูดำ หมาป่าดิงโก้ ควอลล์ หนูต้นไม้เท้าดำ แบนดิคูดสีน้ำตาล ค้างคาวกินผลไม้สีดำ ขณะที่พื้นที่ใกล้กับเขตชายฝั่งก็มีพะยูนเข้ามาหากินด้วย
อุทยานแห่งชาติคาคาดู (Kakadu National Park) นับได้ว่าเป็นสรวงสวรรค์แห่งหนึ่งของเหล่านก โดยมีนกมากกว่า 280 ชนิดอาศัยอยู่ที่นี่ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสามของนกที่พบในออสเตรเลีย นกหลายชนิดเป็นนกที่ค่อนข้างหายากและพบได้เฉพาะถิ่น อย่างเช่น เหยี่ยวเรดกอสฮอร์ค (Red Goshawk) นกโกลเดียนฟินซ์ (Gouldian Finch) เป็นต้น ฤดูฝนถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของบรรดานกในอุทยาน นกแก้วและนกกระตั้วหลายชนิดรวมฝูงนับร้อยๆ ตัวบินผ่านไปตามแนวป่าโปร่ง พวกนกกินผึ้งบินโฉบอยู่ตามต้นไม้เพื่อจับผึ้งและแมลงกิน นกคุกคาเบอร่าที่มีลักษณะคล้ายนกกระเต็นเกาะอยู่ตามคบไม้และส่งเสียงร้องคล้ายเสียงคนหัวเราะ ส่วนบนท้องฟ้าก็มีนกอินทรีหางแฉกซึ่งเป็นนกนักล่าที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียบินร่อนหาเหยื่อ อย่างเช่น พวกวอลลาบีและลูกจิงโจ้ที่ไม่ระวังตัว ตามพื้นที่หนองบึงและที่ราบน้ำท่วมซึ่งได้แปรสภาพเป็นทะเลสาบตื้นๆ ในช่วงฤดูฝน เป็นที่อยู่ของเป็ดป่าและนกน้ำชนิดต่างๆ เช่น นกเยซูที่มีเท้าแผ่กว้างจนสามารถเดินบนใบบัวได้ นกกระสาจาบิรูออสเตรเลียซึ่งเป็นนกน้ำขนาดใหญ่ที่กินสัตว์น้ำเกือบทุกชนิดรวมทั้งงูและลูกจระเข้ ขณะที่ในทุ่งหญ้าใกล้กับเนินเขาจะมีนกอีมูซึ่งเป็นนกบินไม่ได้ขนาดใหญ่เดินหาอาหารตามพื้นดิน
นอกจากนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแล้ว อุทยานแห่งชาติคาคาดู (Kakadu National Park) ยังมีสัตว์เลื้อยคลานมากถึง 117 ชนิด ซึ่งสัตว์เลื้อยคลานที่โดดเด่นที่สุดของที่นี่ เห็นจะไม่พ้น จระเข้ ซึ่งในทวีปออสเตรเลียมีอยู่สองชนิดคือ จระเข้น้ำจืดและจระเข้น้ำเค็ม ซึ่งทั้งสองชนิดต่างก็มีอยู่เป็นจำนวนมากในอุทยานนี้ โดยในยามเช้าที่อากาศยังอบอุ่น เหล่าจระเข้จะขึ้นมานอนอ้าปากผึ่งแดดเพื่อปรับอุณหูมิในร่างกาย ก่อนจะคลานลงน้ำเพื่อซุ่มรอล่าเหยื่อต่อไป
สำหรับพวกจระเข้เหล่านี้ เมื่อเทียบกันแล้ว จระเข้น้ำจืดจะมีขนาดเล็กและมีอันตรายน้อยกว่าพวกน้ำเค็ม โดยพวกมันจะมีความที่ยาวไม่เกินสี่เมตร ปากค่อนข้างแคบกว่ากว่าพวกน้ำเค็มและกินปลากับสัตว์น้ำอื่นๆ เป็นอาหารหลัก ขณะที่จระเข้น้ำเค็มนั้นถือได้ว่าเป็นเพซฌฆาตอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย พวกมันดุร้ายกว่าพวกน้ำจืดและอาจมีความยาวได้มากกว่าหกเมตร นักล่าเลือดเย็นเหล่านี้ ตามปกติจะอาศัยอยู่ใกล้กับปากน้ำบริเวณรอยต่อระหว่างทะเลและแม่น้ำ อย่างไรก็ตาม พวกมันมักท่องเที่ยวไกลจากพื้นที่ดังกล่าวเข้าไปยังเขตน้ำจืดบ่อยๆ และบางส่วนก็ย้ายมาอาศัยอยู่เป็นประจำ จระเข้น้ำเค็มล่าสัตว์ขนาดใหญ่กินเป็นอาหาร โดยเหยื่อของพวกมันตามปกติได้แก่ ควาย หมู จิงโจ้ รวมทั้งจระเข้น้ำจืดด้วย อีกทั้งยังมีอยู่หลายครั้ง ที่จระเข้น้ำเค็มเข้าจู่โจมและล่ามนุษย์ซึ่งพลัดหลงเข้าไปใกล้ที่อยู่ของพวกมันกินเป็นอาหาร
นอกจากสัตว์ที่ได้กล่าวไปแล้ว ที่นี่ยังมีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำพวกกบอีก 25 ชนิด ปลาหลายร้อยชนิด แมลงหมื่นกว่าชนิดและพืชต่างๆ อีก 1,700 ชนิดนับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในอดีต นับแต่ชาวผิวขาวเดินทางมายังนอร์ทเทิร์นเทอริทอรี่ พื้นที่ของคาคาดู kakadu ก็ถูกรบกวนมาโดยตลอดทั้งจากบรรดาเกษตรกรที่เข้ามาปรับเปลี่ยนที่ราบลุ่มให้กลายเป็นพื้นที่กสิกรรม นักล่าสัตว์ที่เข้ามาล่าจระเข้และสัตว์ป่าอื่นๆ คนงานเหมืองที่เข้ามาขุดแร่ นอกจากนี้พวกมนุษย์ยังนำเอาสัตว์ต่างถิ่นเข้าปล่อยยังพื้นที่แถบนี้ด้วย ควายและหมูได้ถูกมนุษย์นำเข้ามาที่นี่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และถูกเลี้ยงแบบกึ่งปล่อย ทำให้มีสัตว์จำนวนมากหลุดเข้าไปอยู่ป่า สัตว์กีบเหล่านี้ทำความเสียหายให้กับพืชท้องถิ่นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พื้นที่ของคาคาดูก็สามารถฟื้นฟูความเสียหายจากสัตว์เหล่านี้ได้ดีและทำให้พวกมันกลายเป็นสัตว์ป่าของที่นี่ไปในที่สุด ซึ่งในฤดูแล้ง จะมีชาวบ้านเข้ามาล่าควายและหมูป่าเหล่านี้เพื่อเป็นอาหารและขายเป็นรายได้เสริม นอกช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้หลังจากที่นี่กลายเป็นอุทยานไปแล้ว พวกนักล่าก็ยังได้รับอนุญาตให้เข้ามาล่าควายป่าและหมูป่าได้อยู่ โดยทางการต้องการให้พวกนายพรานควบคุมจำนวนของสัตว์กีบเหล่านี้ไม่ให้มีมากเกินไปจนรบกวนสัตว์ท้องถิ่น ทว่าสัตว์ต่างถิ่นบางชนิด อย่างคางคกไร่อ้อยก็ยังคงเป็นปัญหากับสัตว์ท้องถิ่นอย่างหนัก พวกมันแพร่พันธุ์รวดเร็วโดยไม่มีศัตรูและกินแมลงกับสัตว์ขนาดเล็กในท้องถิ่นเป็นอาหาร แม้ว่าการประกาศให้เป็นอุทยานในปี ค.ศ. 1979 จะทำให้คาคาดูได้รับการคุ้มครองจากการบุกรุกของชาวนาและการเข้ามาล่าสัตว์ของนายพราน รวมทั้งยังจำกัดการทำเหมืองแร่ในพื้นที่นี้ลงจนเหลือเพียงเหมืองเรนเจอร์แห่งเดียวและได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดจากทางการเพื่อไม่ให้เหมืองสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น ถนนและที่พัก เพิ่มมากขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบทั้งต่อสัตว์ป่า พรรณพืช รวมทั้งชนพื้นเมืองที่ยังคงอาศัยอยู่ที่นี่ด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วดูเหมือนว่า การที่มนุษย์จะสามารถปกป้องอุทยานแห่งนี้ให้คงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติได้ตลอดไปนั้น คงมีเพียงการเลือกหนทางที่ดีที่สุดเพื่อประสานกันระหว่างการหาผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเท่านั้น ที่จะทำให้คาคาดูยังคงเป็นเช่นที่มันเคยเป็นมาอยู่ได้ตลอดไป